Branding Design คืออะไร
Branding Design หรือการออกแบบแบรนด์ เป็นการสร้างอัตลักษณ์ (Identity) ให้กับแบรนด์ผ่านการเลือกใช้สี ฟอนต์ โลโก้ เสียง หรือองค์ประกอบทางศิลปะอื่นๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ของเราได้ และทำให้แบรนด์ของเรามีความโดดเด่นในตลาดเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ที่ขายสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน
ทำไม Branding Design ถึงมีความสำคัญ
ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรม การทำ Branding Design จึงกลายเป็นส่วนสำคัญของการสร้างแบรนด์และการทำการตลาดไปโดยปริยาย แม้แต่ยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำเทรนด์โลก ก็ยังให้ความสำคัญกับการทำ Branding Design อยู่อย่างสม่ำเสมอ
ยกตัวอย่างเช่น Nike กับโลโก้เครื่องหมายติ๊กถูกสุดคลาสสิกที่ใครๆ ก็จดจำแม้เพียงมองผ่าน Nike เองเป็นหนึ่งใน Sports ware Brand ที่สร้างอัตลักษณ์ผ่านการทำ Branding Design มานานหลายปี และผนวกเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของสินค้า ทั้งรองเท้า เสื้อกีฬา ไปจนถึงแคมเปญการตลาดทุกชิ้นที่คิดค้นขึ้น
ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอของการทำ Branding Design นี้เองทำให้เครื่องหมายการค้าของ Nike เป็นที่จดจำในระดับที่ไม่มีแบรนด์ไหนสามารถเลียนแบบได้ และเมื่อผู้คนเห็นเครื่องหมายติ๊กถูก ก็จะนึกไปถึงแบรนด์ Nike เองโดยอัตโนมัติ โดยที่ Nike ไม่ต้องลงทุนหรือออกแรงในการทำโฆษณาแต่อย่างใด
ประเภทของ Branding Design มีอะไรบ้าง
การออกแบบแบรนด์สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ได้ดังนี้
1. Personal Branding
การสร้างแบรนด์ผ่านตัวตนของเราเอง เป็นวิธีการออกแบบแบรนด์ที่มีความเป็นปัจเจกที่สุด ซึ่งการสร้าง Personal Branding อาจจะไม่ได้หมายถึงการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่เพื่อการตลาดเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ตัวตนของเราที่มีอยู่แล้วโดดเด่นออกมามากกว่าที่เคย จนสามารถจับใจกลุ่มคนหมู่มากได้
ตัวอย่างการสร้าง Personal Branding ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยก็เช่น พิมรี่พาย YouTuber และแม่ค้าขายของออนไลน์ชื่อดังที่มีวิธีการพูดและพรีเซนต์สินค้าในแบบของตัวเอง จะเห็นว่าพิมรี่พายเป็นคนที่ขายคาแร็คเตอร์ตัวเอง ใช้อัตลักษณ์นิสัยส่วนตัวในการสร้างฐานแฟนคลับเพื่อขายสินค้า ไม่ว่าพิมรี่พายจะหยิบจับอะไรก็ดูเป็นเงินเป็นทอง ขายง่ายขายคล่องไปหมด โดยไม่เกี่ยวกับแบรนด์หรือสินค้าที่เลือกนำมาขาย
เพราะคนส่วนมากยึดติดกับตัวตนของพิมรี่พายไปแล้วนั่นเองครับ
2. Product Branding
การสร้างแบรนด์ผ่านสินค้า เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นักการตลาดหลายคนชอบใช้ คือการสร้างแบรนด์ผ่านสินค้าชนิดหนึ่งให้เป็นที่รู้จัก จากนั้นผู้คนก็จะเริ่มจดจำเรา หรือแบรนด์ของเราได้ผ่านสินค้านั้นๆ ไปเอง
ตัวอย่างการทำ Product Branding ที่ประสบความสำเร็จมากได้แก่บริษัท Apple ที่เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์หลักอย่าง iPhone ออกมา และพัฒนาอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ iPhone เช่น หูฟัง สายชาร์จ หรือ Apple Watch ออกมาขายเพิ่มเติมหลังจากที่ iPhone ติดตลาดไปแล้ว
ด้วย iPhone ที่เป็นนวัตกรรมโทรศัพท์ Smartphone ที่เรียบหรูและล้ำสมัย ทำให้ Apple ที่เป็นบริษัทแม่ ได้รับภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะ Innovator ไปด้วยเต็มๆ เพราะไม่ว่าใครก็เชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าจาก Apple หลังจากได้ลองใช้ iPhone ไปแล้ว
3. Retail Branding
การสร้างแบรนด์ผ่านหน้าร้านค้า นอกจากจะได้สร้างอัตลักษณ์ให้แบรนด์แล้ว ยังได้เข้าถึงลูกค้าขณะที่กำลังจับจ่ายใช้สอยสินค้าของเราอีกด้วย ตัวอย่างแบรนด์ที่สร้าง Retail Branding ได้น่าสนใจได้แก่มูจิ (Muji) แบรนด์เสื้อผ้าและของเครื่องใช้จากญี่ปุ่น ที่นำความมินิมอลอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์มาปรับให้เข้ากับหน้าร้าน
ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสเข้าไปซื้อสินค้าในมูจิ ก็จะได้สัมผัสกับความสบาย แพ็กเกจคลีนๆ และร้านที่ออกแบบมาเพื่อให้เดินเล่นได้อย่างเพลิดเพลิน จนเกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ที่เรียกความมินิมอลแบบนี้ว่า “มูจิสไตล์” กันเลยทีเดียว
4. Corporate Branding
การสร้างแบรนด์ในระดับองค์กรเป็นการสร้างอัตลักษณ์ที่ไกลกว่าแค่เรื่องของการขายและการพรีเซนต์สินค้า แต่รวมไปถึงการนำเสนอค่านิยม เป้าหมาย และจริยธรรมขององค์กรนั้นๆ ว่าในภาพรวมแล้วมีทิศทางเป็นเช่นไร นอกจากสินค้าและบริการแล้ว ผู้บริโภคได้มูลค่าเพิ่มเติมอะไรจากตัวสิ่งของอีก
ตัวอย่างการทำ Corporate Branding ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยได้แก่ SCG กับคอนเซ็ปต์เรื่องความยั่งยืน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการซื้อสินค้าจาก SCG นอกจากจะมีคุณภาพแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและการสร้างนวัฒกรรมใหม่ๆ เพื่อโลกที่ดีขึ้นด้วย
5. Online Branding
การสร้างแบรนด์ออนไลน์เหมาะสำหรับธุรกิจในยุคดิจิทัลทุกชนิด การมาถึงของโซเชียลมีเดียทำให้ผู้บริโภคคาดหวังการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์จากแบรนด์มากขึ้น ตัวอย่างของการทำ Online Branding ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากได้แก่ KFC Thailand ที่มีแอดมินคอยพูดคุยกับลูกค้าจนกลายเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รักของผู้คน มีความเข้าถึงง่าย เป็นกันเอง คุยกันได้ตั้งแต่เรื่องสัพเพเหระไปจนถึงรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการและอาหารของ KFC
6. Offline Branding
แน่นอนว่าหากมีการสร้างแบรนด์แบบออนไลน์ ก็ต้องมีแบบออฟไลน์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผ่านสื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ หรือป้าย Billboard ต่างๆ ตัวอย่างการสร้าง Offline Branding ที่ประสบความสำเร็จในไทยได้แก่ Netflix ที่ใช้ป้าย Billboard โปรโมทหนังต่างๆ โดยเล่นกับผู้ชมอย่างเป็นกันเอง ทำให้คนมองว่า Netflix เป็นแบรนด์ที่สนุกสนาน สมกับธุรกิจ Entertainment Streaming ที่เป็นสินค้าหลักของ Netflix เอง
Branding Design ไหนที่เหมาะกับคุณ
Branding Design นั้นมีหลากหลายองค์ประกอบและรูปแบบที่สามารถนำมา Mix and Match ให้ตรงกับแบรด์ของเราได้ หากเรามีหน้าร้าน ก็ลองเอา Retail Branding กับ Offline Branding มาลองปรับใช้ดู หรือหากมีขายแบบออนไลน์ด้วย ก็ลองเอา Online Branding เข้ามาผสมผสานเพิ่มเติมได้
และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือความสม่ำเสมอและต่อเนื่องของการทำ Branding Design ไม่ว่าจะ Apple, Nike หรือ Netflix ก็ล้วนใช้เวลาในการสร้างแบรนด์ขึ้นมาอย่างยาวนาน กว่าจะเป็นที่จดจำในตลาดและหมู่ผู้บริโภคได้อย่างในทุกวันนี้ครับ