ในยุคที่เทคโนโลยีและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การให้ความสำคัญของธุรกิจจะไม่ใช่แค่การผลิตสินค้า ขายสินค้า หรือการให้บริการที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังต้องต้องตระหนักถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดของ “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) อีกด้วย เพราะในปัจจุบัน การทำ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร กลายเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่หลาย ๆ แบรนด์ต่างให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของแบรนด์อีกด้วย
CSR คืออะไร
CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร เป็นการดำเนินกิจการต่าง ๆ ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกองค์กร โดยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งเเวดล้อม เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าองค์กรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ การทำกิจกรรม CSR หรือโครงการ CSR เพื่อสังคมขององค์กร ยังรวมไปถึงการสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม ความยั่งยืน และความเอื้อเฟื้อต่อชุมชนด้วย นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ด้วย
กลยุทธ์ CSR คืออะไร
กลยุทธ์ CSR คือ แผนการดำเนินงานที่องค์กรกำหนดขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ CSR มีดังนี้
- การกำหนดพันธกิจและเป้าหมายของการทำ CSR อย่างชัดเจน เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องโดยมุ่งเน้นไปในสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญ
- การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อกำหนดกลยุทธ์ CSR ที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กร
- กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานที่เหมาะสมกับพันธกิจและเป้าหมาย CSR ที่กำหนดไว้ ไมว่าจะเป็น กิจกรรม CSR ที่องค์กรจะทำ งบประมาณที่ใช้ ระยะเวลาดำเนินการ ฯลฯ
- กำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ (KPI) เพื่อวัดผลลัพธ์ของกิจกรรม CSR ว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
ทั้งนี้ กลยุทธ์ CSR สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
- กลยุทธ์เชิงรุก เป็นการมุ่งเน้นการสร้างสรรค์กิจกรรม CSR ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น
- การลงทุนในโครงการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาชุมชน
- การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน CSR แก่พนักงาน การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อความรับผิดชอบต่อสังคม
- กลยุทธ์เชิงรับ เป็นการมุ่งเน้นการลดผลกระทบขององค์กรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรจะดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นหรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ เช่น
- การดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานสากล เช่น ISO 14001:2015 มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม
- การลงทุนในโครงการพัฒนาชุมชน เช่น โครงการบริจาคเงินหรือสิ่งของแก่ชุมชน
- การสื่อสารและรายงานผลการดำเนินงาน CSR
ทำไมการทำ CSR ถึงสำคัญ
การทำ CSR มีความสำคัญกับธุรกิจหลายประการ ดังนี้
1. ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
การทำการตลาดเพื่อสังคม หรือ CSR นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในสายตาของผู้บริโภค นักลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการยอมรับจากสาธารณชน ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวนั่นเอง
2. ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร
การทำ CSR มีส่วนช่วยในการเพิ่มมูลค่าขององค์กรได้ ยิ่งองค์กรได้รับรางวัลเกี่ยวกับ CSR ก็จะยิ่ง ส่งผลให้องค์กรมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
3. ช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ
การทำ CSR สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้ ยิ่งองค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้รับงานหรือโครงการจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนมากขึ้น ทำให้องค์กรได้รู้จักกับพันธมิตรใหม่ ๆ มากขึ้น
4. ช่วยเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาด
การทำ CSR จะช่วยให้องค์กรเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งอาจนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่วนแบ่งการตลาดขององค์กรเพิ่มขึ้น
5. ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการประหยัดพลังงาน
การทำ CSR สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจได้ เช่น องค์กรเปลี่ยนมาติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานด้วยหลอดไฟ LED ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
6. ช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
การทำ CSR จะช่วยให้องค์กรมีความคิดสร้างสรรค์และมองหาแนวทางใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรได้
7. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
การทำ CSR จะช่วยให้พนักงานมีทักษะและความรู้ด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ด้วย
8. ดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ
การทำ CSR มีส่วนช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้ทำงานกับองค์กรได้ เพราะด้วยภาพลักษณ์องค์กรที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับองค์กรนั่นเอง
CSR แตกต่างกับ CSV อย่างไร
CSR หรือ Corporate Social Responsibility หมายถึง การแสดงความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นการแบ่งปันผลกำไรมาใช้ตามความต้องการและความพึงพอใจของผู้บริหาร โดยแนวคิดการตลาดเพื่อสังคมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อคืนกำไรกลับสู่สังคม ไม่ได้ทำเพื่อหวังผลประกอบการ ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับองค์กรได้
ยกตัวอย่างกิจกรรม CSR เช่น
- การบริจาคเงินหรือสิ่งของให้กับมูลนิธิ
- การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม
CSV หรือ Creating Shared Value หมายถึง การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าระหว่างธุรกิจและสังคมร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งองค์กรและสังคม ด้วยการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญขององค์กร
ยกตัวอย่างกิจกรรม CSV ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น องค์กรหนึ่งออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำเช่นนี้เรียกว่าการทำ CSV เนื่องจากสินค้าดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้อีกด้วย
CSR มีกี่ประเภท
CSR เป็นความมุ่งมั่นขององค์กรที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่แสวงหาผลกำไรโดยตรง แล้วความรับผิดชอบต่อสังคม มีอะไรบ้าง? สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ประเภทสิ่งเเวดล้อม
บริษัทสามารถดำเนินการโครงการ CSR เพื่อสังคม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ยกตัวอย่างเช่น
- การรีไซเคิลสินค้าและวัสดุตลอดทั้งกระบวนการผลิต
- การชดเชยผลกระทบเชิงลบโดยการเติมเต็มทรัพยากรธรรมชาติเข้าไปแทน เพื่อช่วยลดผลกระทบของบริษัทได้ เช่น บริษัทที่ตัดไม้มาผลิตสินค้า ได้มีการปลูกกลับคืนในปริมาณเท่ากันหรือมากกว่านั้น
2. ประเภทจริยธรรม
ความรับผิดชอบด้านจริยธรรมคือการที่บริษัทหรือองค์กรดำเนินการอย่างยุติธรรมและมีจริยธรรม โดยบริษัทต่าง ๆ มักจะกำหนดเป้าหมายทางจริยธรรมได้ด้วยต้วเอง ยกตัวอย่างเช่น
- การปฏิบัติต่อลูกค้าทุกคนอย่างยุติธรรม โดยไม่คำนึงถึงอายุ เชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือรสนิยมทางเพศ
- การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนในเชิงบวก รวมถึงให้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ที่ดีเกินกว่าขั้นต่ำที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งรวมถึงการพิจารณาการจ้างงานที่เป็นธรรมสำหรับบุคคลทุกคน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างส่วนบุคคล
3. ประเภทต่อสังคม
วิธีการดำเนินการเกี่ยวกับกิจกรรม CSR ของบริษัทและการมีส่วนร่วมต่อสังคม ในรูปแบบที่ง่ายที่สุด ยกตัวอย่างเช่น
- การบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร
- การส่งพนักงานไปเป็นอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับชุมชน
4. ประเภทต่อการเงิน
ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรประเภทนี้มีความเชื่อมโยงกับสามประเภทข้างต้น โดยบริษัทอาจจัดทำแผนที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม จริยธรรม และการกุศลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องสนับสนุนแผนเหล่านี้ผ่านการลงทุนทางการเงินขององค์กร ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น
- การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ส่งเสริมความยั่งยืน
- จัดทำโครงการฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับความตระหนักทางสังคม หรือข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อม
CSR ยังมีความสำคัญหรือไม่ต่อองค์กรคุณ
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาว ซึ่งควรดำเนินกิจกรรม CSR ให้สอดคล้องกับพันธกิจและเป้าหมายขององค์กร รวมถึงสอดคล้องกับประเด็นปัญหาที่องค์กรให้ความสำคัญด้วย
ทั้งนี้ CSR ยังคงมีความสำคัญต่อองค์กรเสมอ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว และองค์กรจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แต่ CSR ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในระยะยาว เพราะมอบประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ให้กับองค์กรตามที่เรากล่าวไปนั่นเอง เมื่ออธิบายเช่นนี้แล้วคงตอบคำถามได้แล้วใช่ไหมว่า CSR ยังมีความสำคัญหรือไม่ต่อองค์กรคุณ