หากเอ่ยถึงกลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างชื่อเสียง สร้างการรับรู้ สร้างยอดขาย และความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ การใช้ “Brand Ambassador” และ “Brand Presenter” เป็นสิ่งที่หลาย ๆ แบรนด์นิยมใช้ โดยเฉพาะ Global Brand ซึ่งหลายคนจะเห็นว่าบางแบรนด์เลือกใช้ Brand Ambassador (แบรนด์แอมบาสเดอร์) ส่วนบางแบรนด์ก็เลือกใช้ Brand Presenter (แบรนด์พรีเซนเตอร์) ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิดได้ว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายเดียวกัน ทำหน้าที่เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้ว ทั้งสองคำนี้แตกต่างกันด้วยหน้าที่หลาย ๆ อย่าง
Brand Ambassador คือใคร
Brand Ambassador คือ บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแบรนด์ หรือเป็นฑูตตราสินค้าที่คอยช่วยโปรโมตแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ เพื่อช่วยส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์นั่นเอง ทั้งนี้ Brand Ambassador สามารถเป็นคนดังในวงการบันเทิง กีฬา ธุรกิจ หรือบุคคลทั่วไปที่มีอิทธิพลต่อสังคมก็ได้ ซึ่งจะต้องมีภาพลักษณ์ที่เหมาะสมกับแบรนด์ ตัวสินค้า หรือบริการนั้น ๆ ด้วย
หน้าที่หลักของ Brand Ambassador นั้น คือ การสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้กับแบรนด์ ด้วยการปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ เช่น โฆษณา นิตยสาร สื่อโซเชียลมีเดีย หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์มากขึ้น
นอกจากนี้ Brand Ambassador ยังมีหน้าที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การแชร์ประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ การตอบคำถามผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หรือการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคเกิดจงรักความภักดีต่อแบรนด์ได้
นอกจากหน้าที่หลัก ๆ ที่ว่าไปแล้ว Brand Ambassador ยังสามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ โดยการที่ Brand Ambassador เป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้น จะช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ รวมถึงทำให้ผู้บริโภครู้สึกมั่นใจในแบรนด์ได้ด้วย
จะเห็นได้ว่า Brand Ambassador มีบทบาทสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ โดยช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ และได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค ซึ่งส่งผลต่อการช่วยเพิ่มยอดขายและผลประกอบการให้กับแบรนด์ได้ในที่สุด

Brand Ambassador ต่างจาก Brand Presenter อย่างไร
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า Brand Ambassador กับ Brand Presenter นั้นแตกต่างกัน โดย Brand Ambassador คือ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของแบรนด์อย่างเป็นทางการ หรือเป็นฑูตตราสินค้า คอยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับแบรนด์ ในการเผยแพร่ข้อมูลและภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแบรนด์ ซึ่งหน้าที่หลักของ Brand Ambassador เช่น
- โปรโมตแบรนด์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อโฆษณา สื่อสังคมออนไลน์ กิจกรรมต่าง ๆ ของแบรนด์
- สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ผ่านบุคลิกภาพและพฤติกรรม
- สร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค
ส่วน Brand Presenter คือ บุคคลที่ปรากฏตัวในสื่อโฆษณาของแบรนด์ คอยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแบรนด์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ ผ่านสื่อโฆษณาของแบรนด์ ช่วยนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ให้น่าสนใจมากขึ้น รวมถึงสร้างความจดจำและดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การช่วยเพิ่มยอดขายนั่นเอง
จากหน้าที่หลักของ Brand Ambassador และ Brand Presenter จะเห็นได้ว่า ทั้งสองบทบาทมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง นั่นคือ การเป็นตัวแทนของแบรนด์ในการเผยแพร่ข้อมูลของแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอย่างนี้ ยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญ เช่น
- ความผูกพันกับแบรนด์: โดย Brand Ambassador มักมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับแบรนด์มากกว่า Brand Presenter เนื่องจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของแบรนด์อย่างเป็นทางการ จึงทำให้ Brand Ambassador มีความผูกพันกับแบรนด์มากกว่า และสามารถสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างแท้จริง
- ขอบเขตการทำงาน: Brand Presenter มีหน้าที่นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ผ่านสื่อโฆษณา ซึ่งจะทำหน้าที่โปรโมตแค่ในประเทศหรือตามที่สัญญากำหนดไว้ เช่น ณเดชน์ ญาญ่า ที่เป็นพรีเซนเตอร์ Shopee ในปี 63 หรือ หม่ำ-เท่ง-โหน่ง ที่เป็นพรีเซนเตอร์ Shopee ในช่วงมหกรรม 11.11 แต่ในส่วน Brand Ambassador นั้น จะมีขอบเขตการทำงานที่กว้างกว่า โดยมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลและภาพลักษณ์ของแบรนด์ในทุกช่องทาง จะเห็นความแตกต่างได้ชัดจาก Global Brand Ambassador คือ บุคคลที่เป็นตัวแทนในการโปรโมตแบรนด์ตามสื่อต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างลิซ่า BLACKPINK ที่เป็น Global Ambassador ในเครือ LVMH ทั้ง CELINE และเครื่องประดับ BVLGARI
- ระยะเวลาการทำงาน: Brand Ambassador มีเป็นสัญญาจ้างอย่างต่อเนื่องหรือมีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นระยะเวลานาน ส่วน Brand Presenter มักเป็นสัญญาระยะสั้น ๆ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
- ค่าตอบแทน: Brand Ambassador มักได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า Brand Presenter เนื่องจาก Brand Ambassador มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้ของแบรนด์
Brand Ambassador มีกี่ประเภท
Ambassador Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของแบรนด์ ซึ่งหลาย ๆ แบรนด์ก็เลือกใช้ Ambassador Marketing มาเป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ Brand Ambassador ก็มีหลายประเภท ใช้ช่องทางการสื่อสารที่แตกต่างกันและมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน แต่พวกทั้งหมดนั้นมีเป้าหมายร่วมกัน คือ สร้างการรับรู้ให้กับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือแบรนด์ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มยอดขายนั่นเอง โดยหลัก ๆ แล้ว Brand Ambassador มี 5 ประเภท ดังนี้
1. Influencer Ambassador
เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในช่องทางโซเชียลมีเดีย โดย Influencer Ambassador อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียงมาก แต่ต้องเป็นผู้นำเทรนด์ใหม่ ๆ ซึ่ง Influencer Ambassador เป็นบุคคลที่มีส่วนช่วยผลักดันแบรนด์ได้อย่างน่าสนใจได้มาก เนื่องจากมีฐานผู้ติดตามจำนวนมากที่พร้อมจะรับฟังและติดตามข้อมูลต่าง ๆ ที่ Influencer Ambassador นำเสนอ และกลุ่มผู้ติดตามนั้นมักจะมีความจงรักภักดีกับตัวบุคคลด้วย
ซึ่ง Influencer Ambassador จะได้รับการว่าจ้างจากแบรนด์ให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแบรนด์ เพื่อโปรโมตแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ ระดับ Influencer ก็มีให้เลือกหลายระดับ แบ่งตามจำนวนผู้ติดตามและกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่
- Mega Influencer มีผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 คน
- Macro Influencer มีผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน
- Micro Influencer มีผู้ติดตาม 10,000 – 100,000 คน
- Niche Influencer มีผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 คน
2. Customer Ambassador
Customer Ambassador คือ ลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ด้วยตัวเอง โดยกลุ่มคนนี้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัท และเลือกตัดสินใจโปรโมตแบรนด์ให้ด้วยความประทับใจแบรนด์อย่างแท้จริง จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของแบรนด์อย่างเป็นทางการ คอยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของแบรนด์ เผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแบรนด์ โดย Customer Ambassador
เปรียบเสมือนตัวแทนของลูกค้า ซึ่งจะทำให้มีความน่าเชื่อถือในเรื่องประสบการณ์ของการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ มากกว่าอินฟลูเอนเซอร์หรือพรีเซนเตอร์
3. Industry Expert Ambassador
Industry Expert Ambassador แปลตรงตัวเลยว่า คือ บุคคลหรือตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหรือสาขาวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น เทคโลโนยี การออกกำลังกาย ความงาม สุขภาพ การถ่ายภาพ แฟชั่น ฯลฯ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กรหรือแบรนด์ในการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหรือสาขาวิชาชีพนั้น ๆ ให้กับบุคคลทั่วไปหรือกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้บริโภคมักจะไว้วางใจและเชื่อถือในคำแนะนำของบุคคลกลุ่มนี้ เพราะบุคคลเหล่านี้จะมีข้อมูลและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ปัจจุบันแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับ Industry Expert Ambassador มากขึ้น เพื่อสร้างความโดดเด่นและแตกต่าง รวมถึงให้ความรู้ และสร้างความน่าเชื่อถือในอุตสาหกรรม ให้แก่ผู้บริโภค ยกตัวอย่าง Industry Expert Ambassador เช่น อาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ฯลฯ
4. Affiliate Ambassador
Affiliate Ambassador คือ บุคคลที่ทำหน้าที่โปรโมตผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ เพื่อแลกกับค่าคอมมิชชั่นหรือเปอร์เซ็นต์จากการขายผ่านช่องทางออนไลน์หรือการเข้าชมเว็บไซต์ที่เกิดขึ้น โดยพวกเขาจะสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด มีการกำหนดลิงก์สั่งซื้อหรือโค้ดให้กับการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ โดยวัตถุประสงค์ของ Affiliate Ambassador คือการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อ เพื่อแลกกับการจ่ายเงิน เช่น การทำคลิปรีวิว ทั้งนี้ Affiliate Ambassador จะไม่ผูกขาดกับแบรนด์ ๆ เดียว
5. Employee Ambassador
Employee Ambassador คือ พนักงานของบริษัทหรือองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร กิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทให้กับบุคคลภายนอก เช่น ลูกค้า คู่ค้า สื่อมวลชน ซึ่ง Employee Ambassador มีความสำคัญต่อบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะสามารถช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับบุคคลภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพนักงานจะมีความรู้เชิงลึก รู้จักแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการเป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับบุคคลภายนอก ช่วยสร้างการรับรู้ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ได้ด้วย
เทคนิคเลือก Brand Ambassador ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร
1. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย
สิ่งแรกที่ควรทำในการเลือก Brand Ambassador คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ให้ชัดเจน เพราะ Brand Ambassador ที่ดีควรเป็นคนที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์มากที่สุด โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ อาชีพ ความสนใจ
2. เลือก Brand Ambassador ที่นิสัยคล้ายกับองค์กร
การเลือก Brand Ambassador ที่นิสัยคล้ายกับองค์กร เหมาะสมกับแบรนด์ทั้งในด้านบุคลิกภาพ ค่านิยม และกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ จะช่วยให้แบรนด์สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะกลุ่มเป้าหมายจะรู้สึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กับ Brand Ambassador ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ได้ เพราะกลุ่มเป้าหมายจะรู้จักแบรนด์มากขึ้นจาก Brand Ambassador เกิดความรู้สึกไว้วางใจต่อแบรนด์มากขึ้น และช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาสนใจแบรนด์ได้
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ที่เน้นความหรูหราและคลาสสิก ควรเลือก Brand Ambassador ที่ดูดี มีระดับ มีบุคลิกภาพสุภาพ อ่อนโยน ส่วนแบรนด์ที่เน้นความทันสมัยและสนุกสนาน ควรเลือก Brand Ambassador ที่มีบุคลิกภาพร่าเริง สดใส และเข้าถึงง่าย
3. ประเมินการเข้าถึง
การเข้าถึงของ Brand Ambassador เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาด้วย เพราะ Brand Ambassador ควรเป็นคนที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น หากแบรนด์มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น Brand Ambassador ก็ควรเป็นคนที่มีชื่อเสียงในหมู่วัยรุ่น เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

สรุป
จะเห็นได้ว่า Brand Ambassador ต่างจาก Brand Presenter ทั้งนี้ ไม่ว่าจะธุรกิจของคุณจะตัดสินใจเลือกใช้ Brand Ambassador หรือ Brand Presenter ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับแบรนด์ เพราะทั้งสองอย่างนี้ มีส่วนช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือก