Social Media MarketingSocial ListeningFacebook MarketingInstagram MarketingTikTok Marketing
Try Mandala For Free

Copywriting คืออะไร Copywriter มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

Copywriting คืออะไร Copywriter มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

ในวงการของ Digital Marketing หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ “Copywriting” กันมาบ้างแล้ว แต่บางครั้งก็ยังได้ยินคำถามอยู่บ่อย ๆ ว่า Copywriting คืออะไร? เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำการตลาด? จริง ๆ แล้ว Copywriter สำคัญกับการทำการตลาดมากเพราะเป็นตัวช่วยดึงดูดให้ลูกค้าสนใจสินค้าและบริการตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้อ่าน ซึ่งปัจจุบันอาชีพ Copywriter ก็เป็นที่นิยมกันในหมู่ของคนที่มีความสามารถในด้านการเขียน แล้ว Copywriting คืออะไร? มีรูปแบบใดบ้าง? อาชีพ Copywriter ต้องทำอะไรบ้าง? อ่านต่อได้เลย!

Copywriting คืออะไร?

Copywriting คือกระบวนการการเขียนข้อความโฆษณาเพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการ โดยจุดประสงค์หลักของ Copywriting คือการเขียนข้อความที่น่าสนใจ สั้น กระชับ โดดเด่น และสื่อถึงเป้าหมายหรือกลุ่มเป้าหมายของโฆษณานั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการเขียนเพื่อโฆษณาแล้ว Copywriting ยังมีจุดประสงค์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเพื่อจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักสินค้าและบริการ เพื่อสร้างยอดขาย และเพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมแคมเปญต่าง ๆ

ทำไมการเขียน Copywriting จึงสำคัญในการทำการตลาด 

wordpress copywriting

Copywriting เป็นข้อความที่ช่วยดึงดูดความสนใจกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ทำตามจุดประสงค์ต่าง ๆ ของแบรนด์ จึงมีความสำคัญเนื่องจากทำให้แบรนด์สามารถไปถึงเป้าหมายทางการตลาดได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้แก่

  • สื่อสารจุดเด่น: Copywriting สามารถสื่อสารจุดเด่นของสินค้าหรือบริการให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าสินค้าหรือบริการนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างไร
  • โน้มน้าวใจ: Copywriting ที่ดึงดูดสามารถโน้มน้าวใจให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ โดยใช้คำที่ทรงพลัง กระตุ้นความรู้สึก และสร้างแรงจูงใจ
  • สร้างการจดจำ: Copywriting สามารถสร้างการจดจำแบรนด์ สินค้า หรือ บริการ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ช่วยให้พวกเขานึกถึงแบรนด์ของคุณเมื่อต้องการสินค้าหรือบริการประเภทนั้น
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำการตลาด: การเขียน Copywriting ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแคมเปญการตลาดของคุณ ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการตลาดได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย 

Copywriting แตกต่างจาก Content Writing อย่างไร 

แม้ Copywriting กับ Content Writing จะเป็นทักษะด้านการเขียนเพื่อการทำการตลาดเช่นเดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ 

Copywriter มีวัตถุประสงค์เพื่อโฆษณา โปรโมตสินค้าและกระตุ้นการขาย มักใช้เพื่อสร้างความสนใจ โอกาสขาย หรือการกระตุ้นการกระทำจากผู้อ่าน ดังนั้นจึงมีการใช้คำที่ค่อนข้างสั้น กระชับ เป็นมิตร เมื่ออ่านแค่ 1-2 ประโยคก็สามารถจูงใจลูกค้าได้ทันที

ตัวอย่าง Copywriting 

  • หิวเมื่อไหร่ ก็แวะมา 7-11
  • การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า

ในขณะที่ Content Writing มีจุดประสงค์เน้นไปที่การให้ข้อมูล ให้ความรู้ หรือความบันเทิง โดยไม่จำเป็นต้องขายสินค้าหรือบริการจึงมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว เป็นรูปแบบของบทความ ข่าว รีวิว โดยใช้ภาษาที่สละสลวย ทางการ เน้นความถูกต้องของเนื้อหามากกว่าการจูงใจผู้อ่าน

ตัวอย่าง Content Writing 

  • บทความเรื่อง 5 เหตุผลที่คุณควรรู้จัก Copywriting
  • บทความเรื่อง Brand Awareness คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ

การเขียน Copywriting ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

องค์ประกอบของ Copywriting

1. Design and Formatting

องค์ประกอบแรกของ Copywriting คือการออกแบบและกำหนดรูปแบบของงานเขียน เนื่องจากก่อนที่จะลงมือเขียนข้อความเราควรพิจารณาถึงสื่อที่จะนำไปใช้ก่อน เช่น Facebook, Instagram, TikTok, Website เพื่อดูว่าข้อความจะไปปรากฏที่ส่วนไหนของสื่อ ถ้าปรากฏอยู่บนรูปภาพที่จะลงบน Instagram ก็อาจจะต้องมาคำนวณดูว่าควรจะไม่เกินกี่อักษรถึงจะสวยงาม นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงการใช้ฟอนต์ สีตัวอักษร และขนาดที่เหมาะกับข้อความอีกด้วย

2. Headline + Description

สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ Headline หรือหัวข้อในการโฆษณา โดยผู้อ่านจะเห็นส่วนนี้เป็นส่งแรก ดังนั้นจะต้องใช้คำที่น่าสนใจและโดดเด่นเพื่อให้สามารถดึงดูดผู้อ่านได้ทันที ส่วน Description คือรายละเอียดที่มาขยายตัว Headline เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจะต้องเป็นข้อความที่สอดคล้องกัน เป็นข้อความที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่โฆษณาหรือถูกโปรโมตแบบย่อ ๆ อ่านแล้วเข้าใจง่าย

3. Body Copy

ต่อมาคือ Body Copy หรือรายละเอียดของเนื้อหา ต้องใช้ภาษาที่น่าสนใจ เชื่อมโยงกับ Headline และ Description อาจเป็นการบอกว่าผู้อ่านจะได้อะไรจากการที่ซื้อสินค้าหรือบริการ อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเน้นไปที่จุดเด่น หรือตอบคำถามที่ผู้อ่านอาจสงสัย โน้มน้าวใจให้ผู้อ่านตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการนั้น

4. Call to Action

ส่วนสุดท้ายที่ควรมีคือ Call to Action หรือการย้ำเพื่อบอกผู้อ่านว่าอยากให้พวกเขาทำอะไร เช่น “ซื้อเลย”,”สมัครตอนนี้” หรือ “คลิกที่นี่” ควรใช้คำที่กระตุ้นการตัดสินใจเพื่อสร้างความกระตือรือร้นให้ผู้อ่านทำบางอย่างทันทีหลังจากที่อ่านจบ

การเขียนโฆษณา Copywriting มีรูปแบบใดบ้าง

1. Marketing Copywriter

โดยปกติแล้วเรามักจะเห็นการทำการตลาดโดยใช้ Copywriting รูปแบบนี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นการเขียนเพื่อทำการโฆษณาหรือการสร้างยอดขายให้กับแบรนด์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้าบนเว็บไซต์ บนโซเชียลมีเดีย หรือโบรชัวร์ ตำแหน่ง Marketing Copywriter หรือนักเขียนโฆษณาทางการตลาดจึงอยู่ในทีมการตลาด โดยทำหน้าที่จัดการเขียน Marketing Copywriting ให้กับแบรนด์โดยมีการใช้จุดเด่นของแบรนด์ออกมา คนที่ทำตำแหน่งนี้นอกจากจะต้องเข้าใจสินค้าและบริการของแบรนด์เป็นอย่างดีแล้วยังต้องมีความรู้เรื่องกลุ่มเป้าหมายอย่างดีอีกด้วย

2. SEO Copywriter

สำหรับใครที่คุ้นเคยกับ SEO หรือ Search Engine Optimization จะต้องเคยเห็นตำแหน่ง SEO Content Writer กันมาบ้างเนื่องจากปกติแล้วในการทำ SEO มักจะใช้บทความยาวเป็นหลัก แต่ SEO Copywriter นั้นก็เป็นตำแหน่งที่จำเป็นเช่นเดียวกันเนื่องจากในบทความยาวประกอบด้วยหลายส่วน อย่างส่วนที่เป็น Headline สั้น ๆ ก็เป็นหน้าที่ของ SEO Copywriter ในการเขียนหัวข้อบทความที่สามารถดึงดูดให้ผู้อ่านกดคลิกเข้ามาอ่านต่อได้ ดังนั้น SEO Copywriter จึงต้องเป็นคนที่มีความรู้ด้าน SEO และ Keyword 

3. Sale Copywriter

แม้ตำแหน่งนี้จะดูคล้ายกับ Marketing Copywriter แต่แท้จริงแล้ว Sale Copywriter จะเจาะจงในเรื่องของการเขียน Copywriter โฆษณาสินค้าและบริการเพื่อมุ่งไปสู่ยอดขายโดยเฉพาะ เนื่องจากจุดประสงค์หลักของ Copywriter ประเภทนี้คือการเพิ่มยอดขายจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าและการใช้งานสินค้าและบริการเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับ Marketing Copywriter แต่ Marketing Copywriter จะเน้นไปที่การทำการตลาดโดยไม่เจาะจงในเรื่องของการขายเพียงอย่างเดียว แต่อาจรวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม การเพิ่มการจดจำ หรือการเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มเป้าหมายกับแบรนด์ด้วย

4. Creative Copywriter

Creative Copywriter มักจะพบได้บ่อยใน Agency ที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดโดยเฉพาะ มีหน้าที่ในการคิด Copywriting ที่มีความคิดสร้างสรรค์และแหวกแนว โดยอาจใช้คำพ้องเสียง พ้องรูป หรือคำที่มีหลายความหมายเป็นส่วนประกอบของ Copywriting เน้นไปที่การเข้าถึงอารมณ์ของผู้อ่าน เรามักจะเห็นได้บ่อยตามโฆษณาในโทรทัศน์หรือสโลแกนสินค้าต่าง ๆ เช่น คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท

ขั้นตอนการเขียน Copywriting ควรเริ่มจากอะไร

1. รวบรวมข้อมูลสำคัญให้ได้มากที่สุด

ขั้นตอนแรกของการเขียน Copywriting จะต้องเริ่มจากการรวบรวม หรือค้นคว้าหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ได้แก่

  • ข้อมูลสินค้าหรือบริการ เช่น จุดเด่น จุดด้อย ราคา การใช้งาน ประโยชน์
  • ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ความต้องการ ปัญหา พฤติกรรม 
  • ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ เช่น สโลแกน คุณค่า เป้าหมาย และคู่แข่งของแบรนด์ 

เนื่องจากเราต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เพื่อเขียน Copywriter ที่สอดคล้องกับข้อมูลเหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงไม่กี่ประโยคแต่ Copywriter ที่ดีจะต้องสามารถดึงจุดเด่นของแบรนด์และสินค้าและบริการออกมาได้อย่างครบถ้วน

2. กำหนดเป้าหมาย

หลังจากที่ได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า บริการ กลุ่มเป้าหมาย และแบรนด์เรียบร้อยแล้ว ถัดมาคือการกำหนดเป้าหมายของการเขียน Copywriter ว่าต้องการอะไรจากการเขียนครั้งนี้ ปกติแล้วแต่ละแบรนด์จะมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันออกไปแล้วแต่แคมเปญ เช่น การสร้างการรับรู้ การสร้างการมีส่วนร่วม เพิ่มยอดผู้ติดตาม เพิ่มไลก์ ให้ลูกค้าสมัครสมาชิก หรือการเพิ่มยอดขาย เมื่อมีเป้าหมายแล้วเราจึงจะสามารถใช้ Call to Action ที่กระตุ้นให้ผู้อ่านทำสิ่งนั้นได้ถูกต้อง

3. วางโครงสร้าง

อีกขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะเริ่มเขียน Copywriting คือการวางโครงสร้างที่เหมาะสมโดยต้องพิจารณาจากประเภทของสื่อที่ต้องการโฆษณาว่าสามารถเขียน Copywriting ได้กี่คำ กี่ตัวอักษร และกี่ประโยคถึงจะเหมาะสมกับสื่อที่ต้องการโฆษณา และต้องลองวางแผนดูว่า Copywriting ที่ต้องการจะมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เช่น Headline, Description, Body Copy และ Call to Action

4. เริ่มเขียนเนื้อหา

หลังจากที่เราได้วางโครงสร้างของ Copywriting ไว้แล้วถัดมาคือการเริ่มลงมือเขียน โดยอาจจะใช้เทคนิคคำพ้องรูป พ้องเสียง ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เน้นจุดเด่นของสินค้าและบริการ อ่านแล้วสามารถตอบคำถามของกลุ่มเป้าหมายและกระตุ้นอารมณ์ให้เขาอยากทำอะไรสักอย่างหลังจากอ่านข้อความจบ โดยไม่ลืมที่จะใช้ขนาดฟอนต์ รูปแบบฟอนต์และสีของข้อความที่เหมาะสม

5. แก้ไขปรับปรุง

เมื่อได้ Copywriting ฉบับแรกมาแล้ว อย่าลืมที่จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล การใช้ภาษา คำผิดและเว้นวรรคคำให้ดี เนื่องจาก Copywriting ที่ดีจะต้องไม่มีคำผิด สั้น กระชับ และสามารถดึงดูดผู้อ่านได้ตั้งแต่อ่านจบ โดยอาจมีการทำ A/B Testing กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อดูว่าประโยคไหนที่สามารถดึงดูดได้มากกว่ากัน

6.  เผยแพร่

เมื่อได้ Copywriting ที่มีประสิทธิภาพมากพอแล้ว การเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับการโฆษณาก็เป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยให้ Copywriting สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกกลุ่ม ที่สำคัญคือหลังเผยแพร่ไปแล้วอย่าลืมติดตามผลลัพธ์อยู่สม่ำเสมอเพื่อปรับปรุงและแก้ไขในครั้งต่อไป

เทคนิคการเขียน Copywriting ที่ดีจนทุกคนต้องหยุดอ่าน

1. คิดอะไรได้ ให้ลงมือเขียนทันที!

การเขียน Copywriting นั้นแม้จะเป็นเพียงไม่กี่ประโยค ไม่กี่คำแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด หลายคนมักจะรอให้เกิดไอเดียที่ใช่ก่อนแล้วค่อยเขียน แต่จริง ๆ แล้วการที่ลองจดทุกคำที่เกี่ยวข้องไว้ในกระดาษแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง อาจจะช่วยให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ จากคำเหล่านั้นที่เคยจดไว้ก็ได้

2. ภาษาที่เข้าใจง่าย

หนึ่งในหัวใจสำคัญของ Copywriting ที่ดีคือการที่ดึงจุดเด่นของสินค้าและบริการออกมา ดังนั้นการใช้คำที่สื่อถึงสินค้าและบริการนั้น ๆ การอ่านรอบเดียวให้เข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ภาษาของ Copywriting ควรเข้าใจง่าย กระชับ ไม่เป็นทางการจนเกินไป เขียนเหมือนพูดคุยกับเพื่อน บางครั้งอาจมีการใช้คำที่กำลังนิยมอยู่ในปัจจุบันมาใช้ใน Copywriting ให้เราเห็นกันบ่อย ๆ อีกด้วย ลองนึกภาพว่าคุณกำลังเลื่อนดู Facebook และเห็น Copywriting 2 ชิ้น ชิ้นแรกเขียนด้วยคำที่ยาว ๆ ยาก ๆ เต็มไปด้วยศัพท์ทางการ ในขณะที่ชิ้นที่สองเขียนด้วยคำที่เข้าใจง่าย กระชับ ตรงประเด็น และน่าสนใจ โฆษณาชิ้นไหนที่มีโอกาสดึงดูดความสนใจของคุณมากกว่า?

3. หาไอเดียสม่ำเสมอ

เพื่อให้เรามีคลังคำศัพท์ที่หลากหลายในสมอง การหมั่นหาไอเดียจากงานโฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ที่เราสามารถนำมาใช้เขียน Copywriting ที่มีประสิทธิภาพได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรหมั่นหาไอเดียจากสื่อต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

Marketing copywriter

4. หาจุดเด่นของสินค้าให้เจอ

การรู้จักจุดเด่นของสินค้าและบริการของแบรนด์จะช่วยให้สามารถอธิบายจุดเด่นข้อนั้นได้ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการทำความเข้าใจในตัวสินค้าและบริการให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้จึงเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

5. ระวังการใช้คำหยาบและการลอกเลียนแบรนด์อื่น

ภาพลักษณ์ของแบรนด์เป็นสิ่งที่แบรนด์ควรให้ความสำคัญ ดังนั้น Copywriting ที่ดีจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำที่หยาบคายและทำให้แบรนด์เสียหาย เนื่องจาก Copywriting เป็นตัวช่วยให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักสินค้าและบริการได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการใช้คำหยาบคายหรือการลอกเลียน Copywriting จากแบรนด์อื่นจะทำให้กลุ่มเป้าหมายมองแบรนด์ไปในทางที่ไม่ดีส่งผลให้เสียภาพลักษณ์ของแบรนด์

6. อย่าลืม Call to Action

Call to Action นับเป็นอีกสิ่งที่ควรใส่ไปใน Copywriting เนื่องจากเป็นตัวย้ำว่าผู้อ่านควรทำอะไรหลังจากที่อ่านข้อความ เป็นการกระตุ้นการตัดสินใจให้ผู้อ่าน คลิก สมัคร หรือซื้อสินค้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ตำแหน่ง Copywriter คืออะไร ต้องทำอะไรบ้าง?

Copywriter คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนคำโฆษณา มีหน้าที่หลักในการคิดและเขียนข้อความต่าง ๆ เพื่อโน้มน้าวใจกลุ่มเป้าหมายให้ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ โดยใช้ภาษาที่กระชับ ตรงประเด็น น่าสนใจ และสื่อสารจุดเด่นของสินค้าหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลักษณะงานและความรับผิดชอบของตำแหน่ง Copywriter

  • คิดและเขียนข้อความสำหรับสื่อโฆษณาต่าง ๆ เช่น โฆษณาออนไลน์ โฆษณาบนเว็บไซต์ โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย โฆษณาบนโทรทัศน์ โฆษณาในสิ่งพิมพ์
  • เขียนบทความ บทความในบล็อก เนื้อหาบนเว็บไซต์
  • เขียนคำอธิบายสินค้า สโลแกน คำขวัญ
  • ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ กลุ่มเป้าหมาย และตลาด
  • ทำงานร่วมกับทีมงานอื่น ๆ เช่น นักออกแบบ กราฟิกดีไซเนอร์ นักการตลาด
  • ติดตามผลและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของงาน

ทักษะที่ต้องมีสำหรับตำแหน่ง Copywriter

  • ทักษะการเขียนภาษาไทย
  • ทักษะการสื่อสาร
  • ทักษะการคิดสร้างสรรค์
  • ความรู้เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
  • ความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ความรู้เกี่ยวกับการตลาด

เงินเดือน Copywriter อยู่ที่เท่าไหร่? 

เงินเดือนของ Copywriter ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ทักษะ และประเภทของงาน โดยทั่วไป Copywriter เริ่มต้นจะได้รับเงินเดือนประมาณ 15,000 บาท และสามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 50,000 บาท หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และทักษะ

ข้อดีและข้อเสียของการเป็น Copywriter 

ข้อดีและข้อเสียของการเป็น Copywriter

ข้อดีของการเป็น Copywriter

  • ทำงานจากที่ไหนก็ได้: Copywriter หลายคนทำงานแบบ Freelance ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องไปออฟฟิศ
  • มีโอกาสเรียนรู้ตลอดเวลา: การตลาดและเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทำให้ Copywriter มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา
  • มีความท้าทาย: Copywriter จำเป็นต้องคิดสร้างสรรค์และหาวิธีใหม่ ๆ ในการโน้มน้าวใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสื่อสาร

ข้อเสียของการเป็น Copywriter

  • มีความกดดัน: Copywriter จำเป็นต้องทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา และบางครั้งอาจต้องทำงานภายใต้แรงกดดันในกรณีที่มีเวลาในการทำงานน้อย
  • น่าเบื่อจำเจ: บางคนอาจรู้สึกเบื่อกับการเขียนงานเกี่ยวกับหัวข้อเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทำให้เลือกทำอาชีพนี้เป็นอาชีพเสริมแทน
  • อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์: การทำตำแหน่งนี้จำเป็นต้องพร้อมรับฟังคำวิจารณ์จากลูกค้าและเพื่อนร่วมงานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องเป็นคนที่สามารถรับความกดดันได้ดีและชอบรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

เริ่มเขียน Copywriting พร้อมเริ่มงานเป็น Content Writer วันนี้

Copywriting เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับการทำการตลาดทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ แม้จะเป็นเพียงแค่ไม่กี่ประโยคแต่ก็มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งช่วยเพิ่มการรับรู้ การจดจำ และเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ ด้วยเหตุนี้เองอาชีพ Copywriter จึงเป็นอาชีพที่สำคัญในแง่ของการตลาดเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันและยังคงจำเป็นในอนาคตเช่นกัน ถึงตาคุณแล้วที่จะเริ่มเรียนรู้ทักษะการเขียน Copywriting เพื่อเริ่มงานเป็น Copywriter!

mandala ai ฟรี
  • หมวดหมู่ :
สมัครสมาชิกเนื้อหาการตลาดฟรีของเรา

เราจะส่ง Email เนื้อหาใหม่ให้คุณทุกสัปดาห์

This email is already subscribe.