- Business Model คืออะไร?
- ข้อดีของการทำ Business Model ก่อนเริ่มธุรกิจ
- Business Model กับ Business Plan ต่างกันอย่างไร
- รู้จัก 10 ประเภทของ Business Models ก่อนทำธุรกิจ
- การเขียน Business Models ที่ดี ต้องคำนึงอะไรบ้าง?
- ทำ Business Models ให้ง่ายขึ้นด้วย Business Model Canvas
- วิเคราะห์ตัวอย่าง Business Model Canvas ของ Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิงเจ้าใหญ่
- วิเคราะห์คู่แข่ง สร้าง Business Models ให้แข็งแกร่งไม่เป็นรองใคร
การทำ Business Model เป็นเสมือนกระดูกสันหลังของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทระดับใหญ่หรือ Startup ที่กำลังขอเงินทุน ดังนั้น วันนี้เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนมาทำความรู้จักความสำคัญของการทำโมเดลธุรกิจ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนขององค์กรทั้งในปัจจุบันและอนาคต
Business Model คืออะไร?
Business Model หรือโมเดลธุรกิจ คือกลยุทธ์ในการหากำไรเข้าบริษัท ผ่านการวางแผนพัฒนา Product การทำราคา และการวิเคราะห์กลุ่มตลาดเป้าหมาย เพื่อสร้างวิธีการหารายได้ (Revenue Stream) และเมื่อหักลบค่าใช้จ่ายประมาณการที่ต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจแล้ว หากเรายังสร้างผลกำไรที่เป็นที่น่าพอใจได้อยู่ ก็ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถนำไปใช้จริงได้
ข้อดีของการทำ Business Model ก่อนเริ่มธุรกิจ
การทำ Business Model ทำให้บริษัท ผู้ลงทุน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มั่นใจว่าองค์กรจะสร้างผลกำไรได้จริง เนื่องจากมีความเข้าใจสินค้าและบริการที่ตัวเองจะนำมาจัดจำหน่าย มีกลุ่มตลาดเป้าหมายมีศักยภาพในการซื้อมากพอ และมีวิธีการสร้างรายได้ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ จนสามารถต่อยอดสร้างทีม จ้างพนักงาน ทำการตลาด และวางแผนการทำงานได้อย่างเหมาะสม
Business Model กับ Business Plan ต่างกันอย่างไร
- Business Model คือกลยุทธ์ที่ใช้ในการสร้างกำไรให้บริษัท ผ่านการพัฒนา Product เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย การทำราคา และ Revenue Stream
- Business Plan คือการนำ Business Model มาต่อยอดเป็นกลยุทธ์และแผนการดำเนินธุรกิจ มีการกำหนดระยะเวลาสำหรับเป้าหมายระยะสั้นและยาว พร้อมวิธีการวัดผลที่แน่นอน มีการปรับและเปลี่ยนได้บ่อยไปตามสภาพตลาดและเศรษฐกิจ
รู้จัก 10 ประเภทของ Business Models ก่อนทำธุรกิจ
ทำความรู้จัก Business Model แต่ละประเภทที่มีอยู่ในตลาด พร้อมตัวอย่าง และข้อดีข้อเสีย โดยบางบริษัทอาจมี Business Model มากกว่า 1 รูปแบบก็เป็นได้
1. โมเดลธุรกิจแบบค้าปลีก (Retailer Model): ผู้ค้าปลีกเป็นตัวเชื่อมสุดท้ายในห่วงโซ่อุปทาน เป็นธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคในราคาที่คุ้มค่า แต่ก็สร้างกำไรไปในเวลาเดียวกัน เช่น ห้างซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Big C และ Tops หรือร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นเป็นต้น
- ข้อดี: กำไรสูง
- ข้อเสีย: คู่แข่งเยอะ
2. โมเดลธุรกิจแบบโรงงานผลิต (Manufacturer Model) ผู้ผลิตสินค้าเอง และจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือจะผ่านผู้ค้าปลีกก็ได้ ตัวอย่างเช่น Toyota, Samsung และ IKEA
- ข้อดี: สามารถสร้างนวัตกรรมและสินค้าใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง
- ข้อเสีย: ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
3. โมเดลธุรกิจแบบสมัครสมาชิก (Subscription Model) ธุรกิจที่ให้ผู้บริโภคสมัครสมาชิก เพื่อใช้สินค้าหรือรับบริการในระยะเวลาที่กำหนด ตัวอย่างเช่น Netflix, Amazon Prime, และ Adobe Creative Cloud
- ข้อดี: มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
- ข้อเสีย: ผู้บริโภคสามารถยกเลิกสมาชิก หรือเปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งได้โดยไม่มีข้อผูกมัด
4. โมเดลธุรกิจแบบจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงฟังก์ชันพรีเมียม (Freemium Model) ธุรกิจที่ปล่อยให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้งานได้ฟรี แต่ต้องจ่ายเงินหากต้องหากปลดล็อคฟังก์ชันที่มากขึ้น เช่น LinkedIn Premium, YouTube Premium และ Zoom
- ข้อดี: อัตราการผู้ใช้งานสูง
- ข้อเสีย: โอกาสในการทำกำไรไม่แน่นอน
5. โมเดลธุรกิจแบบให้เช่า (Leasing Model) ธุรกิจปล่อยให้เช่า คือไม่ได้ขายกรรมสิทธิ์ให้กับผู้เช่า และผู้เช่าสามารถใช้ทรัพย์สินได้ในระยะเวลาที่ตกลงกันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น เต็นท์เช่ารถ, ร้านเช่าหนังสือ และตึกสำนักงาน
- ข้อดี: เป็นการทำเงินจากทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของเองอยู่แล้ว
- ข้อเสีย: ค่าซ่อมบำรุงค่อนข้างสูง
6. โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Model) ธุรกิจที่สร้างขึ้นจากธุรกิจที่มีชื่ออยู่แล้ว โดยผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไป มีหน้าที่ต้องจ่ายปันผลให้กับเจ้าของแฟรนไชส์นั้น ตัวอย่างเช่น McDonald’s, KFC และ 7/11
- ข้อดี: ไม่ต้องทำการตลาดมาก เนื่องจากเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอยู่แล้ว
- ข้อเสีย: ต้องคอยรักษามาตรฐานให้ได้เท่ากับเจ้าของแฟรนไชส์เอง และไม่มีสิทธิ์ห้ามในกรณีที่เจ้าของแฟรนไชส์อยากทำสัญญากับคนอื่น ๆ
7. โมเดลธุรกิจแบบแพ็กเกจ (Bundling Model) ธุรกิจที่ขายสินค้ามากกว่า 1 อย่างโดยจัดเป็นแพ็คเกจ พร้อมตั้งราคาแบบเหมาจ่าย ตัวอย่างเช่น ค่ายโทรศัพท์มือถือที่ขายอินเตอร์เน็ตคู่กับเครือข่ายการโทร หรือ Microsoft ที่ขาย MS Office หลาย ๆ โปรแกรมพร้อมกัน
- ข้อดี: ขายสินค้าได้หลายชิ้นพร้อมกัน
- ข้อเสีย: ต้องใช้การลดราคา หรือลดราคาของสินค้าของแต่ละชิ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า
8. โมเดลธุรกิจแบบคิดค่าบริการ (Fee-for-Service Model) ธุรกิจที่ขายบริการแลกกับค่าธรรมเนียมในการใช้บริการนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น เอเจนซีโฆษณา บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจ บริษัททนาย
- ข้อดี: การเก็บค่าบริการที่ตรงไปตรงมา
- ข้อเสีย: ต้องคอยหาลูกค้าใหม่เรื่อย ๆ
9. โมเดลธุรกิจแบบ Marketplace (Marketplace Model) ธุรกิจที่เป็นตัวกลางให้เจ้าของธุรกิจรายย่อยอื่น ๆ สามารถขายของให้กับผู้บริโภคได้ แลกกับค่าธรรมเนียม หรือส่วนต่างจากการขายสินค้า ตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada และ Konvy
- ข้อดี: ไม่ต้องคิดกลยุทธ์ในการขายสินค้าเอง เพราะมีหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
- ข้อเสีย: ต้องลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม และประสบการณ์ผู้ใช้งานอยู่เสมอ
10. โมเดลธุรกิจเจ้าของโฆษณา (Advertising Model) ธุรกิจที่เป็นเจ้าของ Community แล้วปล่อยให้ธุรกิจอื่น ๆ มาโฆษณาใน Community ของตัวเอง ตัวอย่างเช่น Meta, Google และ TikTok
- ข้อดี: สร้างเงินรายได้สูง ตรงไปตรงมา
- ข้อเสีย: ผู้โฆษณาคาดหวังผลลัพธ์สูง หากไม่เป็นไปตามที่ต้องการอาจนำไปสู่การลดเงินโฆษณา หรือเลิกโฆษณาโดยสิ้นเชิง
การเขียน Business Models ที่ดี ต้องคำนึงอะไรบ้าง?
1. ระบุกลุ่มเป้าหมาย: ใครคือกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มจะซื้อ Product ของเรา มีบุคลิกและความสนใจแบบไหน
2. ทำความเข้าใจปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย: วิเคราะห์ว่า Product ของเราช่วยแก้ปัญหา หรือทำให้ชีวิตของกลุ่มเป้าหมายเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
3. รู้จักจุดขายของ Product: อะไรคือจุดขายที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกต้องเลือกซื้อ Product ของเรา
4. ทำราคาขาย: เราควรขาย Product ในราคาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม
5. หาวิธีสร้างตลาด: หาช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วย Product ของเราผ่านวิธีไหนได้บ้าง
6. หาวิธีสร้างรายรับ: เราจะใช้ Product สร้างรายรับให้กับบริษัทได้อย่างไรบ้าง โดยอาจมีมากกว่า 1 วิธีก็ได้
7. ประเมินค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ: เพื่อให้รู้ว่าเรามีรายจ่ายเท่าไร โดยรายจ่ายจะต้องเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่ารายรับ ให้ลองพยายามลดรายจ่ายลงให้ได้มากที่สุด เพราะส่วนต่างระหว่างรายรับกับรายจ่ายจะกลายเป็นกำไร หรือสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ
8. ทำ SWOT Analysis: เพื่อให้พร้อมสำหรับโอกาส การแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจกระทบกับโมเดลธุรกิจของเรา
9. ทดสอบโมเดลธุรกิจที่สร้างขึ้น: ตั้งสมมติฐาน และหาคำตอบ เช่น เราตั้งสมมติฐานว่าการตั้งราคาของเราสมเหตุผสมผลหรือไม่ โดยลองทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายก่อน
10. เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น: ในกรณีที่เราเริ่มทำธุรกิจแล้ว หากผลลัพธ์ไม่ได้เป็นดังที่แผนไว้ ต้องปรับโมเดลอย่างไร เพื่อความสำเร็จที่มากขึ้นในอนาคต
ทำ Business Models ให้ง่ายขึ้นด้วย Business Model Canvas
Business Model Canvas เป็นเครื่องมือช่วยออกแบบโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะมีความครอบคลุม และเป็นการมองธุรกิจจากหลากหลายมุมมอง เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำกำไร ประกอบไปด้วย
- Key Partners: พันธมิตรที่ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจของเรามีใครบ้าง ทั้งในแง่เงินทุน ทรัพยากร และการโปรโมต
- Key Activities: กิจกรรมหลักที่เราใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ และสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดี ทำให้ผู้บริโภคสนับสนุนเราต่อไป
- Key Resource: ทรัพยากรอะไรบ้างที่เราต้องมีเพื่อปั้นธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นได้ทั้งทรัพย์สิน องค์ความรู้ และทรัพยากรมนุษย์
- Value Propositions: จุดเด่นของ Product เรา สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค หรือทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง และมีดีกว่าคู่แข่งในตลาดอย่างไร
- Customer Relationships: เรามีวิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไรบ้าง ต้องมีบริการหลังการขาย หรือจุดรับร้องเรียนหรือไม่
- Customer Segments: ใครคือกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะกลายเป็นฐานลูกค้าของเราในอนาคต
- Channels: ช่องทางที่เราให้บริการหรือจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้า เราเข้าถึงพวกเขาได้ทางไหนบ้าง
- Cost Structure: วิเคราะห์ต้นทุนที่ต้องใช้ในการสร้างและบริหารธุรกิจ
- Revenue Stream: วิธีการสร้างรายรับให้ธุรกิจ สามารถทำอย่างไรได้บ้าง
วิเคราะห์ตัวอย่าง Business Model Canvas ของ Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิงเจ้าใหญ่
ลองมาดูตัวอย่างการทำ Business Model Canvas ของ Netflix บริษัทสตรีมมิ่งเจ้ายักษ์ในตลาด เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- Key Partners: เนื่องจาก Netflix เป็นสตรีมมิ่งภาพยนตร์ แน่นอนว่าพาร์ทเนอร์คนสำคัญย่อมได้แก่ Producers ภาพยนตร์ที่ช่วยสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการจับมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายเคเบิล ให้รวม Netflix เข้าไปในการให้บริการ หรือจะจับมือกับบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น Samsung ให้เพิ่มฟีเจอร์ให้ผู้บริโภคเข้าถึง Netflix ได้ผ่าน Smart TV
- Key Activities: สิ่งที่ Netflix ต้องทำคือการพัฒนาสองส่วน คือส่วนของแพลตฟอร์ม เพื่อประสบการณ์ผู้ใช้ที่ดี และอีกส่วนคือการทำคอนเทนต์ผ่าน Production ของตัวเอง หรือการดีลซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ยอดฮิตจากค่ายภาพยนตร์ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- Key Resource: ทรัพยากรหลักที่ Netflix ต้องมีคือเงินทุน นักพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน นักพัฒนา AI และอัลกอริทึม ผู้ผลิตสื่อ Producers ทีม Branding ผู้จัดการคัดเลือกคอนเทนต์ นักแปล
- Value Propositions: จุดเด่นของ Netflix คือการที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงภาพยนตร์และซีรีส์ที่หลากหลาย เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ มีฟังก์ชันให้สามารถดาวน์โหลดไว้ดูแบบออฟไลน์ได้แม้ไม่มีอินเตอร์เน็ต แก้ปัญหาของคนชอบดูภาพยนตร์ที่อยากเข้าถึงคอนเทนต์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ยืดหยุ่นได้ตามเวลา และสถานที่ที่สะดวก
- Customer Relationships: ความสัมพันธ์ของลูกค้าและ Netflix เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มอยู่แล้ว และมีลักษณะเป็น Self-service แต่ก็ต้องมี AI ในการช่วยแนะนำคอนเทนต์ที่ตรงกับความชอบของผู้ใช้งาน และปุ่มให้แอด Wish list สำหรับภาพยนตร์ที่อยากให้ Netflix นำมาสตรีม
- Customer Segments: กลุ่มลูกค้าของ Netflix คือใครก็ได้ที่ชอบภาพยนตร์ ไม่เจาะจงเพศและอายุ
- Channels: ผู้ใช้งานเข้าถึง Netflix ได้ผ่านแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มของ Netflix เอง จะเป็นอุปกรณ์แสดงผลแบบไหนก็ได้ที่มีหน้าจอ เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี มือถือ และแท็บเล็ต
- Cost Structure: ค่าใช้จ่ายของ Netflix แบ่งเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือส่วนของการพัฒนาและ Host แพลตฟอร์ม รวมถึงแอปพลิเคชัน อีกส่วนคือค่า Production ในการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องเสียให้ค่ายภาพยนตร์ต่าง ๆ ที่มีคอนเทนต์โดนใจผู้ชม
- Revenue Stream: ใช้ Subscription Model และเพิ่มจำนวนผู้ใช้ผ่านการทำแพ็คเกจแบบครอบครัว แลกกับค่าสมัครสมาชิกรายหัวที่ถูกลง
วิเคราะห์คู่แข่ง สร้าง Business Models ให้แข็งแกร่งไม่เป็นรองใคร
การวิเคราะห์คู่แข่งเป็น Insight ให้เราสามารถสร้าง Value Proposition ของธุรกิจได้อย่างโดดเด่น ช่วยดึงดูดผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้าและบริการของเรามากกว่าคู่แข่ง ในยุคสมัยของการใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ การใช้ Social Listening Tool จะช่วยให้เราเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างง่ายดายและครบถ้วน เช่น Mandala AI ที่ให้ทดลองใช้ฟรีได้แล้ววันนี้