ในการทำการตลาดให้ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจอย่างถ่องแท้ ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คุณเข้าใจกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้นคือ Demographic นั่นเอง ซึ่ง Demographic แปลว่าอะไร แล้ว Demographic มีรูปแบบไหนบ้าง สำคัญต่อการทำแผนการตลาดอย่างไร มาทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันเลย
Demographic คืออะไร ?
Demographic คือ ข้อมูลประชากรศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ รายได้ ระดับการศึกษา อาชีพ สถานภาพสมรส เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ การที่เรามี Demographic Data คือ การที่เรามีข้อมูลประชากร รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร มาจากไหน มีพฤติกรรมอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการวางแผนการทำการตลาด สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ (Segmentation) ได้ โดยแต่ละกลุ่มย่อยก็จะมีความต้องการและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ช่วยให้นักการตลาดเข้าใจลักษณะของกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียดและชัดเจน ทำให้สามารถสร้างกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้
รูปแบบของ Demographic ที่นำไปใช้วิเคราะห์
ข้อมูลประชากรศาสตร์ หรือ Demographic Data เปรียบเสมือนเข็มทิศสำคัญที่ชี้แนวทางให้นักการตลาด สามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เข้าใจพฤติกรรม และคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งรูปแบบของ Demographic ที่นิยมนำไปใช้วิเคราะห์ เช่น
- ข้อมูลประชากรจำแนกรายอายุ
เป็นข้อมูลเกี่ยวกับช่วงอายุของประชากรในพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจถึงความต้องการและพฤติกรรมการซื้อสินค้าของกลุ่มอายุต่าง ๆ ได้ เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มผู้สูงอายุ
- ข้อมูลเพศ
เพศเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนการตลาดให้เข้ากับลักษณะทางเพศของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง มักมีการออกแบบและวางกลยุทธ์ที่แตกต่างกันสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย
- ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
เป็นข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่กลุ่มเป้าหมายอยู่ ข้อมูลส่วนนี้จะช่วยให้นักการตลาดเข้าใจถึงการกระจายตัวของประชากร สามารถวิเคราะห์ความหนาแน่น ประเภทของชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเลือกทำเลที่เหมาะสมสำหรับการทำธุรกิจ การขยายสาขา หรือวิเคราะห์รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับแผนการตลาด ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม
- ข้อมูลรายได้และรายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน
การทราบข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างแผนการตลาด เลือกช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสม ตั้งราคาสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์กับกำลังซื้อของกลุ่มนั้น ๆ ได้
- ข้อมูลอาชีพของประชากร
การเข้าใจลักษณะอาชีพของกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์ พฤติกรรมการบริโภค ความต้องการเฉพาะของกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่การพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มอาชีพนั้น ๆ ได้
- ข้อมูลระดับการศึกษา
การมี Demographic Information เกี่ยวกับระดับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลรายตำบล และเทศบาลตำบล จะช่วยให้ธุรกิจสามารถพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด สร้างสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับระดับการศึกษา และความต้องการของกลุ่มนั้น ๆ ได้อย่างเหมาะสม
สรุปว่า การใช้ข้อมูลประชากรจะทำให้แบรนด์สามารถกำหนดเป้าหมายแบบคร่าว ๆ สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด เช่น แบรนด์ต้องการกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น เพศหญิง อายุ 18-24 ปี อยู่อาศัยในเมือง ระดับการศึกษามัธยมปลายขึ้นไป เป็นต้น
ตัวอย่างแบรนด์ Apple ที่ประสบความสำเร็จ จากการศึกษา Demographic อย่างลึกซึ้ง
- การแบ่งส่วนตลาด
Apple แบ่งส่วนตลาดด้วยการจำแนกประชากรออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามลักษณะบางอย่าง เช่น แบ่งกลุ่มตามประชากรศาสตร์ สถานที่อยู่อาศัย ลักษณะพฤติกรรม ลักษณะทางจิตวิทยา และตัวแปรอื่น ๆ ซึ่งต้องวัดผลได้ เข้าถึงได้ ยั่งยืน และสามารถนำไปดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดได้
- กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เลือก
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Apple ประกอบด้วยบุคคลที่มีฐานะดี ซึ่งยินดีจ่ายเงินเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีที่มีการออกแบบ ฟังก์ชัน และความสามารถขั้นสูง โดยลักษณะทั่วไปของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของแบรนด์ Apple ที่มีร่วมกัน ได้แก่ การชื่นชมการออกแบบ คุณภาพสินค้า ประสิทธิภาพของสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยี
- การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์
Apple พยายามเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์และบริการของตนเองให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยปรับปรุงสินค้า บริการ และแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยรวม เพื่อให้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายอย่างสูงสุด
ทำไมการทำ Demographic ถึงสำคัญกับแผนการตลาด?
การทำ Demographic หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลประชากร จะช่วยให้ธุรกิจสร้างกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพได้ โดยการทำ Demographic มีส่วนสำคัญและมีประโยชน์กับแผนการตลาด ดังนี้
- ช่วยให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายทั้งความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งข้อมูลประชากรที่ต่างกัน ย่อมมีความต้องการและพฤติกรรมการซื้อที่แตกต่างกัน
- ช่วยพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย เช่น สินค้าสำหรับเด็กควรมีสีสันสดใส ปลอดสารพิษ ไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็ก
- ช่วยกำหนดช่องทางการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นมักใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อโทรทัศน์
- ช่วยกำหนดงบประมาณการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้สูงก็จะมีกำลังซื้อสินค้าราคาสูงได้
- ช่วยประเมินผลการตลาด ทำให้นักการตลาดสามารถวิเคราะห์ว่าแคมเปญการตลาดใดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด
- ช่วยให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใน Demographic แต่ละกลุ่มได้
การเปลี่ยนแปลงของ Demographic นั้นสำคัญต่อธุรกิจอย่างมาก เพราะว่ามีผลกระทบต่อหลายแง่มุมธุรกิจ อธิบายให้เห็นภาพชัด ๆ เช่น หากธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าสำหรับเด็ก อาจจะต้องปรับกลยุทธ์เมื่อจำนวนประชากรเด็กมีจำนวนลดลง ธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ อาจจะต้องพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น ธุรกิจควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของ Demographic อย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจ เพื่อปรับกลยุทธ์แผนการตลาดให้เหมาะสม ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การใช้อัลกอริทึมและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อทำการโฆษณาไปยังเป้าหมายย่อยบนโซเชียลมีเดียได้รับความสนใจมากขึ้น โดยโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, TikTok ฯลฯ ต่างมีเครื่องมือจัดการโฆษณาที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายประชากรที่เฉพาะเจาะจงได้มากขึ้น ทำให้การดำเนินแผนการตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถเน้นกลุ่มประชากรที่เฉพาะเจาะจงได้นั่นเอง
วิเคราะห์ Demographic เพื่อกำหนดขนาดของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวิเคราะห์ Demographic เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการและนักลงทุน ตัดสินใจทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการวิเคราะห์ Demographic ไม่ได้มีความสำคัญแค่ในการวางแผนการตลาดเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการลงทุน การจ้างงาน โครงการของรัฐบาล และการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย
อย่างในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ การวิเคราะห์ Demographic สามารถช่วยให้รัฐบาลและนักลงทุน เข้าใจถึงโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมการบริโภคของประชากรในประเทศ ทำให้สามารถวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการบริการสุขภาพหรือการศึกษา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากร การจัดทำนโยบายสาธารณสุขในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ หรือการสนับสนุนโครงการทางการศึกษา สำหรับผู้ที่มีศักยภาพในสายงานอาชีพที่ต้องการแรงงานสูง เป็นต้น
สรุปได้ว่า Demographic เป็นเครื่องมือสำคัญทางการตลาดที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตนเอง ช่วยกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด พัฒนาสินค้าและบริการ เลือกช่องทางการสื่อสาร วัดผลและประเมินผลแคมเปญทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งธุรกิจควรใช้ข้อมูล Demographic ควบคู่กับข้อมูลอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในการใช้ข้อมูล Demographic เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อลูกค้า และเพื่อความสำเร็จทางธุรกิจอย่างยั่งยืนนั่นเอง