แม้ว่าในโลกของการตลาดในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างมากพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มออนไลน์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งทำให้การทำการตลาดแบบ Online มีความสำคัญ แต่การตลาดออฟไลน์ยังคงเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีความสำคัญสำหรับธุรกิจที่ต้องการเพิ่มการเข้าถึงแบรนด์และสร้าง Brand awareness อยู่
อย่างพวกสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีมาอย่างยาวนานและยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันเช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิว ยังคงถูกใช้ในการแจ้งข้อมูลแก่ผู้คน มากไปกว่านั้นสื่อสิ่งพิม์เหล่านี้ได้รับความไว้ใจและความน่าเชื่อถือจากฝั่งลูกค้ามากถึง 82% ด้วยสถิตินี้ ก็ชี้ให้เราเห็นได้แล้วว่าการตลาดออฟไลน์ยังคงมีบทบาทในการตลาดยุคนี้อยู่
วันนี้เราจะมาเจาะลึกว่าการตลาดออฟไลน์คืออะไรพร้อมยกตัวอย่างกลยุทธ์ทางการตลาดแบบออฟไลน์ และชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญและสามารถสร้างผลกระทบต่อการเติบโตและความสำเร็จของธุรกิจของคุณได้อย่างไรบ้าง
การตลาด Offline คืออะไร
การตลาดออฟไลน์ หรือ Offline marketing คือ การสื่อสารของแบรนด์ ไม่ว่าจะ การโฆษณา หรือการส่งเสริมการขายใดๆ ที่ใช้ช่องทางสื่อแบบดั้งเดิมอย่างเช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา สิ่งพิมพ์ รวมไปถึงการการนำสินค้าของแบรนด์ไปโชว์ในงานอีเวนต์ต่าง ๆ หรืองานแสดงสินค้า และยังมีกลยุทธ์การตลาดที่ใกล้เคียงกับ Offline Marketing คือ Outbound Marketing
รูปเเบบการตลาด Offline มีอะไรบ้าง
1. รูปแแบบโฆษณา
ถือเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ตัวอย่างที่เราเห็นกันได้บ่อยอย่างเช่น โฆษณาบนทีวีและวิทยุ, Billboard, ป้ายโฆษณาติดข้างรถเมล์, และโปสเตอร์ตามสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น
2. รูปแบบการประชาสัมพันธ์
รูปแบบนี้อาศัยการสื่อสารแบรนด์ผ่านเครื่องมือประชาสัมพันธ์จำพวกการสื่อสารมวลชน ไม่ว่าจะเป็น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ
3. รูปแบบอีเว้นต์
เป็นรูปแบบที่มุ่งเน้นไปที่การทำการตลาดของแบรนด์เชิงกิจกรรม ทั้งนี้ก็เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และทำความรู้จักกันแบบเห็นหน้า เช่นการเปิดบูธในห้าง การจัดกิจกรรมตามตลาด จัดคอนเสิร์ตของศิลปินที่กำลังดังเพื่อโปรโมทสินค้าของแบรนด์ งานExpo หรืองานกลางแจ้งต่าง ๆ
4.รูปแบบ Promotion
รูปแบบนี้มุ่งเน้นไปที่การทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักกับแบรนด์ไปพร้อมกับกระตุ้นการมีส่วนร่วมโดยมีของรางวัลเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน เช่นการร่วมเล่นเกมเพื่อชิงโชคทอง เงินรางวัล หรือสินค้าของแบรนด์ หรือกิจกรรมง่าย ๆ เช่นการลงทะเบียนสมัครสมาชิกกับแบรนด์เพื่อลุ้นรางวัล การสะสมแต้มเพื่อแลกของรางวัลตามคะแนน เป็นต้น
ตัวอย่างแคมเปญการทำการตลาด Offline
1. Spotify – Me Also Me Campaign
แพลตฟอร์มสตรีมเพลงชื่อดังก็ได้ทำการตลาดแบบออฟไลน์โดยใช้มีม (Memes) เข้ามาเป็นแรงบัลดาลใจในการสื่อสารการตลาด ในแคมเปญ ‘Me also me’ ซึ่งเป็นการนำเหตุการณ์ที่ผู้คนพบได้ในชีวิตประจำวันมาจับคู่กับเพลงที่มีการสตรีมบนแอปของแบรนด์นั่นเอง เรียกได้ว่า ใครที่ผ่านมาพบเห็นก็สามารถอมยิ้มได้โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรเลย
2. Lululemon – Sweat With Us Campaign
แบรนด์ชุดออกกำลังกายที่เพิ่งเข้าไทยเมื่อไม่นานมานี้ แต่โด่งดังอย่างมากในฝั่งตะวันตก ซึ่งทางแบรนด์ก็ได้มีการทำ Offline marketing โดยการจัดทำคลาสสอนโยคะตามหน้าร้านหลาย ๆ สาขา โดยให้ลูกค้าสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ฟรี ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นการทำให้ลูกค้าใหม่ได้รู้จักกับแบรนด์มากขึ้นผ่านการทำกิจกรรมและเป็นการะตุ้นการมีส่วนร่วมและสร้าง Brand loyalty กับลูกค้าเดิมของแบรนด์อีกด้วย
3. KLM: Take-Off Tips Campaign
สายการบิน KLM ได้จัดทำแคมเปญ Take off Tips โดยจัดตั้ง Pop-up บูธตามสนามบินต่าง ๆ โดยให้นักเดินทางหรือผู้โดยสารที่รอขึ้นเครื่องได้แลกเปลี่ยนเคล็ดลับการเดินทางกับผู้คนตามจุดหมายการเดินทางของพวกเขา ผ่านระบบ Hologram ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้การรอเครื่องเป็นเรื่องที่น่าเบื่ออีกต่อไป เรียกได้ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มสีสันให้ผู้คนอยากแวะเข้ามาร่วมกิจกรรมได้เป็นอย่างดี
4. Corona – Pay with Plastic Campaign
แบรนด์เบียร์ชื่อดัง Corona ได้ทำแคมเปญการตลาด Pay with plastic โดยให้ลูกค้าสามารถจ่ายด้วยขวดพลาสติกแลกกับเบียร์จากแบรนด์ฟรี ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการฉลอง World Oceans Day ในประเทศเม็กซิโก บราซิล อิตาลี สเปน และโคลอมเบีย แคมเปญนี้ถือเป็นกระบอกเสียงให้สังคมใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทางแบรนด์ก็จะทำความสะอาดชายหายของประเทศที่ร่วมแคมเปญ 1 ตารางเมตร ต่อ 1 ขวดที่ได้ทำการสั่งซื้ออีกด้วย
กลยุทธ์วิธีการทำการตลาดแบบออฟไลน์
1. แคมเปญการตลาดแบบกองโจร (Guerrilla Marketing Campaigns)
การทำแคมเปญการตลาดแบบกองโจรเป็นกลยุทธ์ที่แหวกแนวและดึงดูดความสนใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างประสบการณ์แบรนด์ที่น่าจดจำ แคมเปญเหล่านี้มักจะอาศัยความคิดสร้างสรรค์ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ผ่านมาพบเห็น ตัวอย่างการตลาดแบบกองโจร เช่น
Flash Mobs: การจัดการแสดงหรือการรวมตัวในพื้นที่สาธารณะที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนและกระจายการรับรู้ถึงแบรนด์
สตรีทอาร์ต: การสร้างจิตรกรรมฝาผนังหรืองานศิลปะที่นำมาจัดวางในที่สะดุดตาและกระตุ้นการรับรู้ถึงแบรนด์ โดยมักจะมีข้อความที่สอดคล้องกับคุณค่าของแบรนด์อยู่
2. จัด Event ของแบรนด์
แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อย ๆ แต่ การจัดอีเวนต์ของแบรนด์นั้นช่วยกระตุ้น Brand awareness ได้อย่างดีเพราะแบรนด์สามารถนำเสนอสินค้าให้กับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ชุมชนหรือผู้คนในท้องที่นั้น ๆ ได้ร่วมกิจกรรมกับแบรนด์แบบตัวต่อตัว สร้างประสบการณ์เชิงบวกให้กับพวกเขาได้ ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นกลายมาเป็นลูกค้าของแบรนด์ได้
เคล็ดลับง่ายๆ ในการจัดงานอีเวนต์ให้ผู้คนพูดถึง:
- ทำ Promotion ของสินค้าพิเศษเฉพาะในงาน
- มีกิจกรรมให้ร่วมสนุกเช่นการตั้ง Photobooth การเล่นเกมต่าง ๆ
- มีขนมหรืออาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ฟรี
- สร้างบรรยากาศที่ดี เช่นการมีดนตรีสด หรือเปิดเพลงคลอ
- ผสมผสานการตลาดออฟไลน์และออนไลน์เพื่อเป็นการโปรโมทอีเวนต์ให้มีประสิทธิภาพ
- คอยวัดผลว่ากิจกรรมในอีเวนต์ไหนได้ผล เพื่อต่อยอดในการจัดอีเวนต์ครั้งถัดไป
3. การทำ Workshop
การทำ Workshop ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าได้อย่างดีอีกหนึ่งวิธี แถมยังเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาไม่นาน ทางฝั่งลูกเองก็ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ในการทำ Workshop และแบรนด์เองก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้แบรนด์สามารถจัดทำ Workshop ที่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าของแบรนด์เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตัวแบรนด์ได้ นอกจากนี้ก็สามารถหาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นๆ มาให้ข้อมูลเพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำแบรนด์เครื่องหอม ก็สามารถจัดทำ Workshop อย่างการทำเทียนหรือทำน้ำหอม โดยมีครูผู้สอนที่มีประสบการณ์มาสอนและแชร์ทริคต่าง ๆ ได้
4. จัดทำแผ่นพับและใบปลิว
อีกวิธีในการส่งข้อความของแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายคือการแจกสื่อสิ่งพิมพ์อย่างใบปลิวหรือแผ่นพับ การพิมพ์ใบปลิวอาจดูเหมือนเป็นกลยุทธ์เก่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแบรนด์ของคุณกำลังออกสินค้าใหม่ หรือจัดกิจกรรมของแบรนด์อยู่ก็สามารถใช้ใบปลิวนี้ไปใช้ในงานนั้น ๆ ได้ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่ลูกค้า
เคล็ดลับในการทำใบปลิวและแผ่นพับให้ดึงดูด:
- พิมพ์อินโฟกราฟิกที่ให้ข้อมูลที่สำคัญและเข้าใจง่าย
- เพิ่มคูปองส่วนลดที่ด้านล่างของใบปลิว
- ใส่ข้อมูลติดต่อของแบรนด์
5. ส่ง Gift Card และของขวัญ ตามเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ
การส่งการ์ดและของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้กับลูกค้า ในโอกาสพิเศษหรือเทศกาล เป็นการแสดงตัวตนของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ แถมยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองกับลูกค้าและสร้างประสบการณ์เชิงบวกได้ดี เพราะลูกค้าจะรู้สึกถึงความใส่ใจของแบรนด์ที่มีให้แก่พวกเขานั่นเอง
เคล็ดลับที่ทำให้เทศกาลพิเศษน่าจดจำสำหรับลูกค้า:
- เลือกใช้ข้อความที่ Personalized เช่นการระบุชื่อของลูกค้าในการ์ด
- มอบส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้าเดิม ในวันเกิดของลูกค้า
- ส่งการ์ด “สุขสันต์วันครบรอบ” พร้อมส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้าในวันครบรอบของแบรนด์
- มอบคูปองสำหรับช่วงเทศกาลเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดซื้อ
ในปัจจุบันการทำการตลาด Offline ยังคงมีความสำคัญอยู่
จากที่ได้ทำความเข้าใจเรื่อง Offline marketing กันไปพร้อมกับตัวอย่างกลยุทธ์จากแบรนด์ดังที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เห็นแล้วว่าการตลาดออฟไลน์ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัลนี้อยู่ และหากธุรกิจทำการผสมผสานการตลาดออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน แบรนด์ก็ยิ่งสามารถเพิ่มการเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน