การโฆษณาคืออะไร
การเข้าใจหลักการและบทบาทของการโฆษณาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะยุคนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลและข้อความโฆษณาสินค้าและบริการมากมาย ซึ่งการโฆษณาไม่เพียงแค่การนำสินค้าหรือบริการของบริษัทมาโชว์ให้เห็นเท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความรู้สึกและมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งความหมายของการโฆษณา (Advertising) คือ การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารต่อสาธารณชนเกี่ยวกับธุรกิจ สินค้า หรือบริการ ไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อจนสำเร็จ
ประเภทของสื่อในการโฆษณามีอะไรบ้าง
สื่อโฆษณามีกี่ประเภท? ประเภทของสื่อโฆษณาหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. สื่อโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising)
การโฆษณาออนไลน์ คือ กระบวนการโฆษณาขายสินค้าหรือบริการโดยใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสื่อสารและสร้างความสนใจในสินค้าหรือบริการกับกลุ่มเป้าหมาย การโฆษณาออนไลน์มีลักษณะและวิธีการโฆษณาที่แตกต่างกันไปตามแพลตฟอร์มและรูปแบบที่ใช้ แต่มีหลักการที่เหมือนกันคือการใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านสื่อออนไลน์เพื่อสร้างการสนใจและส่งเสริมการขายของสินค้าหรือบริการ ยกตัวอย่างเช่น
- KOL (Key Opinion Leader), Influencer, TikToker
คือ ผู้นำหรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้เฉพาะทางในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ที่มีความซับซ้อน อย่างด้านการเงิน ด้านเทคโนโลยี หรือด้านไลฟ์สไตล์ เช่น ความงาม การออกกำลังกาย อาหาร เป็นต้น ซึ่ง KOL และ Influencer จะเหมือนกันโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook YouTube Instagram YouTube หรือ X ในการสื่อสารกับกลุ่มผู้ติดตาม ส่วน TikToker จะใช้แพลตฟอร์ม TikTok ในการสื่อสารกับกลุ่มผู้ติดตาม ทั้งนี้ Influencer แบ่งออกเป็นหลายประเภท ตามจำนวนผู้ติดตาม ดังนี้
- Nano Influencer มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน
- Micro Influencer มีผู้ติดตาม 10,000-50,000 คน
- Mid-Tier Influencer มีผู้ติดตาม 50,000-100,000 คน
- Macro Influencer มีผู้ติดตาม 100,000-1,000,000 คน
- Mega Influencer มีผู้ติดตาม มากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป
ยกตัวอย่าง KOL เช่น เชฟป้อม, บูม ธริศร, หมอของขวัญ
ยกตัวอย่าง Influencer เช่น เก๋ไก๋สไลเดอร์, บี้ เดอะสกา, SpriteDer SPD
ยกตัวอย่าง TikToker เช่น สยาโม, เบลล่า วิถีไทย, THAMMACHAD
- สื่อโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย (Social Media Advertising)
เป็นสื่อโฆษณาบนช่องทางแพลตฟอร์ม Social Media เช่น Facebook Ads, X Ads, YouTube Ads, Instagram Ads, TikTok Ads เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจ
- สื่อโฆษณาผ่านอีเมล (Email Advertising)
การส่งอีเมลโฆษณาถึงผู้รับ โดยโฆษณาในอีเมลสามารถเป็นรูปแบบของโปรโมชัน, ข่าวสาร หรือข้อมูลโฆษณาอื่น ๆ
- สื่อโฆษณาในรูปแบบการค้นหา (Search Advertising)
คือการโฆษณาผ่านเครื่องมือค้นหาบนโลกออนไลน์ เช่น Google Ads, Bing Ads, Yahoo Ads เพื่อให้เว็บไซต์ของธุรกิจ ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของคำที่ค้นหา
- สื่อโฆษณารูปแบบวิดิโอ (Video Advertising)
โฆษณาที่แสดงผลในรูปแบบของวีดีโอออนไลน์ บอกเล่าเรื่องราวหรือข้อความที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภค เช่น โฆษณาใน YouTube, โฆษณาวิดิโอในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอออนไลน์, โฆษณาวิดิโอในโซเชียลมีเดีย
ประเภทของสื่อโฆษณาออนไลน์มีข้อได้เปรียบในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาเจาะจง มีการเก็บข้อมูลและการวัดผลความสำเร็จในการโฆษณา ซึ่งช่วยให้ผู้โฆษณาสามารถปรับปรุงแคมเปญโฆษณา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อผู้บริโภค และเพิ่มยอดขายของสินค้าหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย
2. สื่อโฆษณาออฟไลน์ (Offline Advertising)
สื่อโฆษณาออฟไลน์ คือ กระบวนการโฆษณาที่ไม่ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ในการสื่อสารหรือส่งเสริมสินค้าหรือบริการ ยกตัวอย่างเช่น
- ป้ายบิลบอร์ด (Billboard)
คือ ป้ายโฆษณากลางแจ้งขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล
มักจะติดตั้งในที่สาธารณะที่มีการจราจรไปมา เพื่อให้คนจำนวนมากได้พบเห็น เช่น บนอาคาร ถนนสายหลัก ถนนมอเตอร์เวย์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
- สื่อโฆษณาสิ่งพิมพ์ (Print Advertising)
เป็นการโฆษณาสินค้าผ่านตัวหนังสือแล้วตีพิมพ์ลงสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ เป็นต้น
- สื่อโฆษณาวิทยุ (Radio Advertising)
เป็นการโฆษณาผ่านเสียงในรายการวิทยุทั่วไป
- สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ (Television Advertising)
เป็นการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งโฆษณาอาจปรากฏในรายการทีวีหรือเป็นโฆษณาคั่นรายการก็ได้
- สื่อโฆษณาในรายการทางโทรทัศน์ (Product Placement)
เป็นสื่อโฆษณาที่ปรากฏอยู่ในรายการทางโทรทัศน์ ละคร หรือภาพยนต์ ซึ่งเป็นการวางผลิตภัณฑ์ประกอบฉาก ในขณะที่กำลังออกอากาศอยู่นั่นเอง
- สื่อโฆษณาในรูปแบบโทรศัพท์มือถือ (Mobile Advertising)
สื่อโฆษณาในโทรศัพท์มือถือ ยกตัวอย่างเช่น โฆษณาในแอปพลิเคชันมือถือ, การส่งข้อความแบบ SMS, โฆษณาบนแพลตฟอร์มการเล่นเกมบนมือถือ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตในการเชื่อมต่อ
ประโยชน์ของการทำโฆษณา
การทำโฆษณามีหลายประโยชน์สำหรับธุรกิจและองค์กร ไม่ว่าจะเป็น
1. ช่วยสร้างการรับรู้ในสินค้าและบริการ: ประโยชน์ของการทำโฆษณาอย่างแรกเลยคือช่วยช่วยสร้างการรับรู้ในสินค้าหรือบริการของบริษัท การโฆษณาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สามารถทำให้คนรู้จักและจดจำยี่ห้อหรือสินค้าได้ง่ายขึ้นด้วย
2. ช่วยเพิ่มยอดขาย: การโฆษณาช่วยสร้างความสนใจและแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งสามารถเพิ่มยอดขายและรายได้ของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. สร้างความเชื่อมั่นในสินค้า: การโฆษณาที่ดีจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าหรือบริการของคุณ ให้เข้าไปอยู่ในใจของลูกค้า ทำให้เกิดการซื้อและใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
4. ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดีกับลูกค้า: การโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ มีส่วนช่วยสร้างการติดตามและความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวกับลูกค้า
5. ช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับโปรโมชันและกิจกรรมพิเศษ: การโฆษณาช่วยในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโปรโมชันส่วนลด กิจกรรมพิเศษ และข้อเสนอพิเศษที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อของลูกค้า
6. สร้างภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท: การโฆษณาที่มีคุณภาพ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์บริษัทที่ดีในใจของลูกค้า และเพิ่มความน่าเชื่อถือในตลาด
7. ช่วยในการวัดผลและปรับปรุงโฆษณา: ประโยชน์ของโฆษณาออนไลน์จะช่วยให้คุณสามารถวัดผลและปรับปรุงแคมเปญโฆษณาได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อมูลและการวิเคราะห์ผลการโฆษณา คุณสามารถปรับแต่งและปรับปรุงกลยุทธ์การโฆษณา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองของลูกค้าให้ตรงใจได้มากที่สุด
เทคนิคการทำโฆษณาที่มีคุณภาพ
การทำโฆษณาที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของโฆษณาและสร้างความประทับใจในผู้บริโภค และนี่คือเทคนิคบางอย่างในการทำโฆษณาที่มีคุณภาพ
1. ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย การทำความเข้าใจกับผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้คุณสามารถสร้างข้อความและโฆษณาที่เข้ากับความต้องการและความสนใจของพวกเขาได้
2. โครงสร้างของข้อความในการโฆษณาต้องครบ
ข้อความโฆษณามีส่วนสำคัญในการสื่อสารกับผู้บริโภค ซึ่งองค์ประกอบของการโฆษณาหลัก ๆ มี 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ พาดหัวสำหรับโฆษณา, พาดหัวรองโฆษณา, ข้อความโฆษณา, ภาพประกอบสำหรับโฆษณา, ข้อความลงท้ายโฆษณา
3. สร้างเนื้อหาที่มีคุณค่า
การสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าสำหรับผู้ชมเป็นสิ่งสำคัญ เนื้อหาควรมีข้อมูลที่น่าสนใจ, ก่อให้เกิดความอยากติดตาม และสร้างคุณค่าให้กับผู้ชมในทุก ๆ ขั้นตอนของการตัดสินใจในการซื้อ
4. ใช้รูปภาพและช่องทางสื่อโฆษณาที่เหมาะสม การใช้รูปภาพและช่องทางสื่อโฆษณาที่ดี มีผลส่งเสริมต่อการรับรู้และความจำของโฆษณา อีกทั้งรูปภาพที่ดีจะช่วยให้โฆษณาน่าสนใจมากเป็นพิเศษ
5. สื่อสารด้วยข้อความที่ชัดเจน เข้าใจง่าย
โฆษณาควรมีข้อความที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ผู้ชมควรเข้าใจข้อความหรือข้อมูลที่แสดงในโฆษณาได้โดยง่ายโดยไม่ต้องตีความหมายให้ยุ่งยากซับซ้อน
6. การสร้างความสนใจตั้งแต่ 3-5 วินาทีแรก
คุณมีระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการดึงความสนใจของผู้ชม ดังนั้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำให้โฆษณาให้น่าสนใจและมีประสิทธิภาพในตั้งแต่ 3-5 วินาทีแรก
7. ใส่ความคิดสร้างสรรค์
การทำโฆษณาที่มีความคิดสร้างสรรค์และไม่เหมือนใคร จะช่วยให้โฆษณาของคุณติดอยู่ในความจำของผู้ชม
ข้อจำกัดของการทำโฆษณา
การทำโฆษณามีข้อจำกัดและความยากลำบากบางอย่างที่ต้องพิจารณา ทั้งในการวางแผนและดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของสื่อโฆษณาออฟไลน์หรือออนไลน์ ดังนี้
ข้อจำกัดของการทำโฆษณา Online
แม้ว่าการโฆษณาบนสื่อออนไลน์จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแบบออฟไลน์ อีกทั้งสามารถชมได้ตลอดเวลาและชมได้ทั่วโลก แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น
1. สามารถเกิดการบล็อกโฆษณาได้
โดยผู้บริโภคสามารถใช้โปรแกรมบล็อกโฆษณา เพื่อป้องกันการแสดงโฆษณาให้เห็นบนหน้าจอ ทำให้โฆษณาไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายได้
2. การแข่งขันสูง
โลกออนไลน์เต็มไปด้วยโฆษณา ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ทั้งในการดึงความสนใจของผู้บริโภค และการแทรกแซงของคู่แข่งที่มีงบประมาณมากกว่า ซึ่งอาจทำให้การโฆษณาของคุณยากขึ้น
3. ความสนใจอยู่ในระยะสั้น
ผู้บริโภคมักมีความสนใจในโฆษณาในระยะสั้นเท่านั้น และอาจข้ามโฆษณาไปเมื่อไม่ต้องการดู ซึ่งทำให้ต้องมีการสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าและน่าสนใจเพื่อดึงความสนใจจากผู้บริโภค
4. ความสับสนในข้อมูล
โฆษณาสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันในโลกออนไลน์นั้นมีจำนวนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดการสับสนในข้อมูลได้
5. มีข้อจำกัดทางกฎหมาย
การทำโฆษณาออนไลน์ต้องปฏิบัติตามกฎของแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น ๆ ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล วิธีการโฆษณา ฯลณ
6. การระบาดของข้อมูลปลอม ข้อมูลปลอมและข่าวปลอมมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของโฆษณาออนไลน์และความสัมพันธ์กับผู้บริโภค
7. ความถี่ของการเปลี่ยนแปลงข้อมูล
โลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำโฆษณาต้องปรับตัวเพื่อให้เข้าทันกับความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทรนด์การใช้สื่อ
ข้อจำกัดของการทำโฆษณา Offline
1. การโฆษณาในสื่อออฟไลน์อาจมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งอาจต้องลงทุนในสื่อและพื้นที่โฆษณาอย่างมาก เช่น การโฆษณาในโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์
2. พื้นที่โฆษณาจำกัด ทำให้การโฆษณาสื่อสารได้ไม่ครบถ้วน
3. มีข้อจำกัดในการถึงกลุ่มเป้าหมายทางภูมิศาสตร์ และอาจไม่สามารถส่งถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่การโฆษณา
4 การวัดผลในการโฆษณาออฟไลน์ อาจมีความยากลำบากในการติดตามผลและประสิทธิผลของโฆษณาได้แบบแม่นยำ
5. ยากต่อการปรับแต่งแคมเปญโฆษณาแบบทันที หากการโฆษณาไม่เป็นประสบผลสำเร็จตามต้องการ
6. หากเกิดความผิดพลาดในการสื่อสารหรือผู้บริโภค ผู้ชม เกิดความไม่พึงพอใจ อาจเป็นเรื่องยากต่อการแก้ไขได้แบบทันที
ตัวอย่างการโฆษณา
ขอยกตัวอย่างโฆษณาทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสาร ดังนี้
ตัวอย่างโฆษณาออนไลน์
1. คลิปโฆษณาบ้านเดี่ยว โมเดน บางนา-เทพารักษ์ จาก Fanpage พี่เอ็ด 7 วิ
เป็นการโฆษณาโครงการบ้านเดี่ยว โมเดน บางนา-เทพารักษ์ ภายใน 1.25 นาที ในสไตล์แร็ป บอกเล่าจุดเด่นของโครงการบ้านเดี่ยวอย่างครบถ้วน ผสมผสานกับความสนุกของถ้อยคำ ดนตรี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะเพจ ทำให้เกิดความน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ
2. โฆษณาจากเพจร้านเนื้อแท้
เพจร้านเนื้อแท้ ได้โพสต์รูปโฆษณาสินค้าร้านเนื้อแท้พร้อมแคปชันว่า
ถ้าเนื้อแท้ขายเมนู “ปังกะเพรา” จะเป็นยังไง
จะปังหรือไม่ปัง แต่รับรองชาแน่ๆ เพราะนั่งกินนานกว่าจะหมด
**เมนูนี้ไม่ได้ทำขายจริง แต่ขายขำ **
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดดราม่าในสังคมเกี่ยวกับร้านชาไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งร้านเนื้อแท้ก็ได้หยิบจับกระแสสังคมนั้นมาทำเป็นโฆษณาให้กับร้าน ซึ่งก่อให้เกิดเสียงฮือฮาในโลกออนไลน์ในเชิงบวก รวมถึงยอดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ได้จำนวนมาก
ตัวอย่างโฆษณาออฟไลน์
1. ป้ายบิลบอร์ดโฆษณาน้ำส้ม Minute Maid จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ป้ายโฆษณาบิลบอร์ด จาก Minute Maid แบบมองทะลุได้ ที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงการเปิดรับวิตามินดีที่ดีต่อสุขภาพ ต้องการสื่อว่าแบรนด์ Minute Maid เข้าถึงธรรมชาติและต้องการส่งต่อความเป็นธรรมชาติให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง
2. ป้ายบิลบอร์ดโฆษณาราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ (RWS)
ป้ายบิลบอร์ดโฆษณาบริเวณทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงดินแดง-พระราม 4 ที่ด้านหน้ามีไซโลปูนซีเมนต์ตั้งอยู่ 3 แท่ง ได้กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของป้ายบิลบอร์ดรายการราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ ที่เป็นภาพของแดเนียล ซินบีมวยไทย กำลังเงื้อเท้าเตะแท่งไซโลปูนซีเมนต์ พร้อมคำโฆษณาที่ว่า “แท่งปูนไม่หลบ ต้องจบที่โดนเตะ” ที่สะท้อนให้เห็นว่า รายการราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์ เป็นรายการแข่งขันมวยไทยพร้อมฉีกกฎเกณฑ์เดิม ๆ และจะไม่มีอุปสรรคอะไรมาขวางกั้น
สรุป
การเข้าใจหลักการโฆษณาและเทคนิคการทำโฆษณาที่ดีมีคุณภาพ จะช่วยยกระดับการโฆษณาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะช่วยให้คุณสร้างโฆษณาที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคให้เกิดความเข้าใจ และมีความสนใจต่อสินค้าหรือบริการของคุณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบันนี้