Social Media MarketingSocial ListeningFacebook MarketingInstagram MarketingTikTok Marketing
Try Mandala For Free

รู้จัก Perceptual Map คือ? เทคนิคสร้างกราฟ วางจุดยืนให้ครองใจผู้บริโภค

รู้จัก Perceptual Map คือ? เทคนิคสร้างกราฟ วางจุดยืนให้ครองใจผู้บริโภค

ในฐานะเจ้าของแบรนด์ การมีสินค้าและบริการที่ติดตลาดและเป็นอันดับแรกที่ลูกค้านึกถึงคงเป็นเป้าหมายใหญ่ของทุกแบรนด์ หลายแบรนด์จึงมักให้ความสำคัญกับการใช้กลยุทธ์ 4Ps — Product, Price, Place, และ Promotion แต่ก่อนที่จะกำหนดส่วนประกอบทางการตลาดทั้ง 4 ด้านได้ หลายแบรนด์อาจลืมนึกถึง “การสำรวจตำแหน่งในตลาด” หรือการใช้กลยุทธ์ “Perceptual Map” เพื่อที่จะได้กำหนดส่วนประสมทางการตลาดได้อย่างเหมาะสม แล้ว Perceptual Map คืออะไร? สามารถสร้างได้อย่างไร? ตามมาหาคำตอบกันได้ที่บทความนี้

Perceptual Map คืออะไร?

Perceptual Map คือ แผนภาพที่ใช้แสดงผลการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์หรือสินค้าที่แตกต่างกัน ปกติแล้ว Perceptual Map จะนำเสนอในรูปแบบแกน x และแกน y โดยแต่ละแกนจะกำหนดลักษณะต่าง ๆ ที่ต้องการวัด เช่น ในแกน x วัดราคาสินค้า (เช่น ราคาสูง vs. ราคาต่ำ) ในแกน y วัดความหรูหราของสินค้า (เช่น ไม่หรูหรา vs. หรูหรามาก) การใช้ลักษณะที่ตรงข้ามกันจะแสดงตำแหน่งการแข่งขันของแบรนด์ของคุณต่อแบรนด์อื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ผ่านการวางตำแหน่งของแบรนด์ของเราและแบรนด์คู่แข่งที่เราต้องการเปรียบเทียบไว้ในแผนภาพ เพื่อให้สามารถเข้าใจว่าผู้บริโภคคิดยังไงกับแต่ละแบรนด์ มักจะใช้เมื่อต้องการทำแคมเปญโปรโมชันสินค้าราคาพิเศษ เปิดตัวสินค้าและบริการใหม่ ปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า และการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของแบรนด์ 

Perceptual Map vs. Positioning Map

หลายคนอาจสับสนว่าการทำ Perceptual Map และ Positioning Map มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ด้วยความที่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของแบรนด์ของเราและคู่แข่งในตลาดเช่นเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วกลยุทธ์ทั้ง 2 อย่างมีความแตกต่างกัน

  • โดยที่ Perceptual Map เน้นการแสดงผลการรับรู้ของผู้บริโภคต่อสินค้าหรือบริการที่แตกต่างกันในตลาด ช่วยในการเข้าใจตำแหน่งของสินค้าหรือบริการต่อคู่แข่งและต่อตัวเองในตลาดในสายตาของผู้บริโภค เป็นการมองจากมุมมองของลูกค้าว่าเขารับรู้แบรนด์ต่าง ๆ ในตลาดอย่างไร
  • ส่วน Positioning Map เน้นการแสดงตำแหน่งทางกลยุทธ์ของสินค้าหรือบริการในตลาด เป็นการมองจากมุมมองของบริษัท ว่าต้องการวางภาพลักษณ์แบรนด์ตัวเองอย่างไร เราอยากให้ลูกค้ามองเราเป็นอย่างไร

ประโยชน์ของการใช้ Perceptual Map ที่มีต่อธุรกิจ

การใช้ Perceptual Map มีประโยชน์ต่อแบรนด์และธุรกิจหลากหลายด้าน ได้แก่

  • เข้าใจความคิดเห็นของลูกค้าอย่างแม่นยำ: การเข้าใจความคิดเห็นของลูกค้าจากการทำ Perceptual Map จะช่วยให้รู้ว่าลูกค้ามองแบรนด์ของเราอย่างไร
  • รู้จุดเด่นของสินค้าในสายตาลูกค้า: นอกจากจะเข้าใจความคิดเห็นของลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้แบรนด์รู้ว่าลูกค้าให้ความสำคัญกับคุณสมบัติใดของสินค้ามากที่สุด ซึ่งนั่นอาจจะเป็นจุดเด่นของสินค้าและบริการของแบรนด์ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในสายตาของลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย
  • รู้กลยุทธ์ของคู่แข่ง: การใช้ Perceptual Map ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าคู่แข่งของเรามีจุดเด่นตรงไหนที่เหนือกว่า และใช้กลยุทธ์อะไรในการทำการตลาด
  • ประเมินภาพลักษณ์แบรนด์: การใช้ Perceptual Map ยังสามารถช่วยให้เราวิเคราะห์ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายมีภาพจำต่อแบรนด์ของเราตรงตามที่เราต้องการหรือไม่ 
  • ค้นหาช่องว่างทางการตลาด: เมื่อเราสามารถรู้ตำแหน่งของคู่แข่งก็จะช่วยให้เรามองเห็นช่องว่างในตลาดและโอกาสที่แบรนด์อื่น ๆ ยังเข้าไม่ถึง 
  • ปรับกลยุทธ์การตลาดและการขาย: ข้อมูลจาก Perceptual Map ช่วยให้สามารถปรับปรุงแคมเปญทางการตลาดและเพิ่มยอดขายได้ โดยการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางการตลาดและการขายเกิดนำไปสู่แคมเปญที่ดีขึ้นและ Conversion ที่มากขึ้น
  • วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรม: Perceptual Map ช่วยให้เห็นภาพรวมการรับรู้ของลูกค้าต่อคุณสมบัติต่าง ๆ ของสินค้าในอุตสาหกรรม และสามารถวางแผนปรับตำแหน่งของแบรนด์ให้เหมาะสมได้

ประเภทของ Perceptual Map

Perceptual Map มีหลากหลายประเภท ได้แก่

1. Standard Perceptual Map

standard perceptual map คือ

Standard Perceptual Map คือประเภทที่เราพบกันบ่อยที่สุด มักจะมีสองแกน ทั้งแกนตั้งและแกนนอน โดยจะแสดงภาพลักษณ์ของสินค้าหรือแบรนด์แบบสองมิติที่แตกต่างกัน เช่น แบรนด์เครื่องประดับอย่าง Vitaly Design อาจใช้แผนที่การรับรู้เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของตัวเองว่า “หรูหรา” กับ “ทันสมัย”  เทียบกับแบรนด์อื่น ๆ  โดยมีแกนตรงข้ามกำกับไว้  วัตถุประสงค์หลักของแผนที่ประเภทนี้คือ การค้นหาช่องว่างทางการตลาดและจุดที่แบรนด์สามารถนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งได้

2. Multidimensional Perceptual Map

mutidimensional perceptual map คือ

Multidimensional Perceptual Map จะมีความแตกต่างจาก Standard Perceptual Map ที่มีเพียงแค่สองแกน แต่มีหลากหลายมิติมากกว่าทำให้เกิดการกระจายตัวของข้อมูลสินค้าหรือแบรนด์ต่าง ๆ บนแผนที่ เช่น ในการเลือกอาหารเย็น การทำอาหารทานเองถูกมองว่า อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และราคาไม่แพงมาก แต่ไม่สะดวก ในขณะที่การสั่งอาหารจานด่วนนั้นรวดเร็ว สะดวก แต่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยและราคาอาจจะแพงกว่า

3. Spidergram Perceptual Map

spidergram perceptual map คือ

Spidergram Perceptual Maps มีข้อดีตรงที่สามารถวิเคราะห์ได้หลายมิติเหมือนกับ Multidimensional Perceptual Maps แต่ต่างตรงที่ Spidergram Perceptual Mapsไม่ได้ตัดสินว่าตัวเลือกใดดีกว่ากันในแต่ละมิติ ไม่ได้สื่อการได้อย่างเสียอย่าง เช่น ในกรณีการเลือกอาหารเย็น Spidergram Perceptual Maps ชี้ให้เห็นว่าตัวเลือกแต่ละอย่างสามารถมีคุณสมบัติที่ดีร่วมกันได้ ร้านอาหารตามสั่งอาจจะได้คะแนนสูงทั้งด้านความอร่อย และความรวดเร็ว ในขณะที่ร้านอาหารเพื่อสุขภาพอาจจะได้คะแนนสูงทั้งด้านคุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพ

4. Joint Perceptual Map

joint perceptual map คือ

Joint Perceptual Map ใช้แกนสองแกนเพื่อแสดงภาพลักษณ์ของสินค้าหรือแบรนด์ แต่สิ่งที่พิเศษคือการเพิ่มกลุ่มลูกค้าเป้าหมายลงไปบนแผนที่ด้วย โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ แผนที่ประเภทนี้มีประโยชน์สำหรับนักการตลาดที่ต้องการเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น Joint Perceptual Map เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับผู้ชาย อาจใช้แกนตั้งเป็นข้อมูลประชากรแบ่งตามอายุและเพศ และแกนนอนเป็นคุณสมบัติของสินค้า แบ่งตามปริมาณแคลอรีและประเภทของเครื่องดื่ม ข้อดีของแผนที่ประเภทนี้คือมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อนักการตลาดมีข้อมูลที่แม่นยำเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับรู้สินค้าและความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม

5. Intuitive Perceptual Map

Intuitive Perceptual Map มีความคล้ายกับ Standard Perceptual Maps ตรงที่ใช้แกนสองแกนเพื่อแสดงภาพลักษณ์ของสินค้าหรือแบรนด์ จุดเด่นของแผนที่ประเภทนี้คืออาศัยความรู้ความเข้าใจโดยตรง ของผู้สร้างแผนที่ซึ่งมักจะเป็นนักการตลาด เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโดยนักการตลาดจะต้องรู้จักภาพรวมของตลาด สภาพการแข่งขัน แนวโน้มต่าง ๆ และเข้าใจความต้องการ พฤติกรรม และการรับรู้ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ประโยชน์คือช่วยให้มองเห็นภาพเบื้องต้นของการแข่งขันในตลาด เป็นเครื่องมือเริ่มต้นก่อนที่จะมีการเก็บข้อมูลเชิงลึก และสามารถใช้เป็นกรอบในการออกแบบคำถามสำหรับการวิจัยตลาดต่อไป

6 ขั้นตอนในการสร้าง Perceptual Map

ในการสร้าง Perceptual Map ให้สามารถใช้งานได้เหมาะสมกับแบรนด์ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงแค่ทำตาม 6 ขั้นตอน ได้แก่

1. เลือกคุณสมบัติของสินค้าและแบรนด์

ก่อนการทำ Perceptual Map สิ่งแรกที่ควรทำคือการโฟกัสที่ Customer Centric หรือคิดในมุมมองของลูกค้าว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ลูกค้าจะนึกถึงเวลาจะซื้อสินค้าและบริการ การเลือกปัจจัยและคุณสมบัติที่เหมาะสมจะช่วยให้แบรนด์และนักการตลาดเข้าใจความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ โดยส่วนใหญ่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกสินค้าและบริการมักจะเป็นราคา คุณภาพ ความพึงพอใจของลูกค้า ความน่าเชื่อถือ ความสวยงาม และความสะดวกสบาย แล้วแต่ประเภทของสินค้าและบริการที่ต่างกันไป เช่น ถ้าเราต้องการเลือกทานอาหารญี่ปุ่น สิ่งที่เราจะนึกถึงก็คือ คุณภาพ ความสะอาด และรสชาติของอาหาร ราคา และสถานที่ โดยเราสามารถเลือกนำปัจจัยดังกล่าวมาใช้สำหรับการทำ Perceptual Map ได้

2. แทนแกนต่าง ๆ ด้วยคุณสมบัติ

การกำหนดแกนต่างๆ ใน Perceptual Map ทำเพื่อแสดงตำแหน่งของสินค้าหรือบริการในตลาด โดยถ้าเป็นการทำ Standard Perceptual Map แกน x และแกน y จะแทนคุณสมบัติหรือปัจจัยที่เราได้เลือกไว้สำหรับการวางตำแหน่งของสินค้าหรือบริการ ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการวางตำแหน่งของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาและคุณภาพ เราสามารถกำหนดแกน x เป็น “ราคา” และแกน y เป็น “คุณภาพ” แล้วนำข้อมูลของสินค้าแต่ละรายการมาวางตำแหน่งบนแผนที่ตามแกนที่กำหนดไว้ให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยแกน x และแกน y จะแบ่งส่วนบนแผนที่เป็นช่อง ๆ หรือระดับต่าง ๆ เพื่อแสดงความต่างของคุณสมบัติที่เลือกไว้ แต่ถ้าเราต้องการทำ Multidimensional Perceptual Map หรือ Spidergram Perceptual Map ที่มีแกนมากกว่า 2 แกน ก็อาจเพิ่มปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องการวัดเพิ่มขึ้นไปได้มากกว่า 2 อย่าง

3. สำรวจข้อมูล 

ในช่วงโควิด-19 การทำแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลกลายเป็นกิจกรรมที่มีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากเราไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านการสอบถามจากเขาโดยตรงหรือการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานได้ เพราะฉะนั้นหลายธุรกิจจึงหันมาใช้ข้อมูลจาก Social Media แทน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Social Media อาจต้องเพิ่มการทำความเข้าใจเรื่อง Sentiment Analysis และ Topic Modeling เพื่อเข้าใจความรู้สึกและแนวโน้มที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ เพื่อช่วยในการวางกลยุทธ์การตลาดในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การนำ Social Listening Tool เข้ามาใช้งานยิ่งทำให้ง่ายและสะดวกขึ้นเนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง อีกทั้ง Social Listening Tool ยังมีบริการ Sentiment Analysis ให้ใช้งานพร้อมด้วย

4. กำหนดตำแหน่งของแบรนด์จากข้อมูล

หลังจากที่ได้สำรวจข้อมูลในฝั่งของลูกค้าไปแล้วว่าเขามองว่าแบรนด์ของเราและแบรนด์อื่น ๆ เป็นอย่างไรในตลาดตามแกนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพ ราคา ความพึงพอใจของลูกค้า ความน่าเชื่อถือ ความสวยงาม และความสะดวกสบาย ก็ถึงเวลาที่เราจะกำหนดว่าแบรนด์ของเราและแบรนด์อื่น ๆ อยู่ตำแหน่งไหนใน Perceptual Map ตามข้อมูลที่เราได้มาจากลูกค้าผ่านการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูล เมื่อได้กำหนดตำแหน่งแล้วก็ถึงเวลาที่เราจะมาสรุปข้อมูลว่าสิ่งที่ลูกค้ามองว่าเราเป็นกับสิ่งที่เราอยากเป็นในสายตาของลูกค้าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง 

5. สร้าง Perceptual Map ด้วย Microsoft Excel

สำหรับใครที่กำลังมองหาเครื่องมือการสร้าง Perceptual Map แบบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง สามารถใช้เครื่องมือที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Microsoft Excel เพื่อทำ Perceptual Map แบบไม่ยาก สะดวก และรวดเร็ว โดยสร้างตารางข้อมูลที่ประกอบด้วยชื่อสินค้าหรือบริการ และค่าของคุณสมบัติที่ต้องการนำมาวิเคราะห์ เช่น ราคา คุณภาพ ความพึงพอใจของลูกค้า จากนั้นเลือกข้อมูลทั้งหมดในตารางและเลือกฟังก์ชัน Scatter Plot จากเมนู Insert ใน Excel เพื่อสร้างกราฟแผนภาพกระจาย และกำหนดคุณสมบัติบนแกน x และแกน y ของกราฟ Scatter Plot เพียงเท่านี้ก็จะได้ Perceptual Map ที่ต้องการด้วย Microsoft Excel

6. ปรับปรุงตามความต้องการของตลาด

เมื่อเรารู้แล้วว่าแบรนด์ของเราในสายตาของลูกค้าเป็นอย่างไร แตกต่างกับสิ่งที่เราอยากจะเป็นอย่างไร ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำผลวิเคราะห์ที่ได้นั้นมาพัฒนาต่อไปว่าแบรนด์จะต้องใช้กลยุทธ์ไหนบ้างในการทำการตลาดเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดหรือลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเอาชนะแบรนด์คู่แข่งและกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมได้หากมีการวิเคราะห์และพัฒนาแผนที่ตอบโจทย์กับลูกค้าจริง ๆ ที่สำคัญคือต้องหมั่นสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอและตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาแผนกลยุทธ์ เพื่อเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

ยกตัวอย่าง Perceptual Map ในสถานการณ์ต่าง ๆ

1. เปิดตัวสินค้าใหม่

เมื่อเราต้องการเปิดตัวสินค้าใหม่ การสร้าง Perceptual Map เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราเข้าใจตำแหน่งของสินค้าในตลาดตามคุณลักษณะที่สำคัญได้ดียิ่งขึ้น เช่น เมื่อ Samsung เปิดตัว Samsung S23 Ultra ใหม่ เราสามารถใช้ Perceptual Map เพื่อเข้าใจตำแหน่งของสินค้าในตลาดเปรียบเทียบกับสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน เช่น iPhone หรือ Google Pixel ใน Perceptual Map สำหรับ Samsung S23 Ultra อาจมีแกน x แทนคุณลักษณะ “ความเร็วในการประมวลผล” โดยเริ่มต้นจากความช้าไปจนถึงความเร็วสูงสุด และแกน y อาจแทนคุณลักษณะ “คุณภาพของกล้อง” โดยเริ่มต้นจากคุณภาพกล้องที่ต่ำไปจนถึงคุณภาพที่ดีที่สุด

samsung S23 ultra

Samsung S23 Ultra อาจอยู่ในบริเวณที่มีคุณลักษณะการประมวลผลที่เร็วและคุณภาพกล้องที่ดี ซึ่งช่วยเสนอสินค้าใหม่ในตลาดให้เป็นที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการภาพถ่ายคุณภาพสูงและสามารถถ่ายภาพไกลได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว นักช่างภาพ หรือผู้ที่ต้องการใช้งานทางธุรกิจ ความสามารถของกล้องคมชัดระดับ 100x ที่สร้างความโดดเด่นให้กับสินค้านับเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดที่ช่วยเสริมสร้างความสนใจและความโดดเด่นของ Samsung S23 Ultra ในตลาด

2. แคมเปญการตลาด

การใช้ Perceptual Map สำหรับวิเคราะห์แคมเปญการตลาดช่วยให้เราเข้าใจตำแหน่งของแคมเปญเราในตลาดโดยเปรียบเทียบกับแคมเปญของคู่แข่งหรือแบรนด์อื่น ๆ ที่มีการทำการตลาดในตลาดเดียวกัน เราสามารถวาง Perceptual Map โดยใช้คุณลักษณะที่สำคัญสำหรับแคมเปญ เช่น ความสร้างสรรค์ ความน่าเชื่อถือ หรือความสนใจของกลุ่มเป้าหมายบนแกนต่าง ๆ ได้ 

Airbnb เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ใช้ Perceptual Map ในแคมเปญการตลาดของพวกเขาเพื่อเสนอตำแหน่งของตนในตลาดการเช่าที่พักออนไลน์ เมื่อเผชิญกับการแข่งขันจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่าง Booking.com และ Expedia ในแคมเปญ “Don’t Go There. Live There.” Airbnb ใช้ Perceptual Map ในการสร้างการรับรู้ที่แตกต่างของแพลตฟอร์มของพวกเขา โดยการเน้นความคิดสร้างสรรค์ในการใช้คำที่สื่อถึงความหมายที่เหมาะกับแคมเปญคือคำว่า “Go There” และ “Live There” เพื่อแสดงถึงประสบการณ์การเดินทางที่เกี่ยวกับการเช่าที่พักที่ Airbnb ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงแค่การเดินทางไปถึงปลายทาง แต่ยังเน้นการอยู่อาศัยที่นั่น หรือ “Live There” เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่มีความทรงจำอันยิ่งใหญ่กว่าการท่องเที่ยวปกติ ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและประสบการณ์ของผู้เข้าพักให้ดีขึ้นโดยตรง

3. การปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า

แคมเปญ Coca Cola
cocacolaunited.com

เราสามารถใช้ Perceptual Map ในการปรับปรุงประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ เช่น Coca-Cola ใช้ Perceptual Map เพื่อเข้าใจและเสนอตำแหน่งของตนในใจของผู้บริโภค โดยการเพิ่มชื่อของผู้บริโภคบนขวดของ Coca-Cola แทนที่จะใช้ชื่อแบรนด์เดียวเท่านั้น ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความสนใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ Coca-Cola นอกจากนี้ การใช้ Perceptual Map ช่วยให้ Coca-Cola เข้าใจถึงความต้องการและประสบการณ์ของผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัย และสามารถปรับเปลี่ยนแคมเปญได้อย่างเหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายหลักของแคมเปญคือการสร้างความสัมพันธ์และความสนใจที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างแบรนด์และผู้บริโภคในระยะยาว

สร้างกราฟ Perceptual Map รู้เขารู้เรา วางกลยุทธ์ได้ดีกว่าเดิม

การสร้าง Perceptual Map ช่วยให้รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง เนื่องจากเข้าใจตำแหน่งของแบรนด์ของเราเทียบกับคู่แข่งทำให้เราสามารถวางกลยุทธ์การตลาดที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีกว่าเดิมโดยการเน้นคุณค่าและคุณลักษณะที่แตกต่างในใจของผู้บริโภค เพื่อสร้างการตอบสนองที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น การใช้เครื่องมืออย่าง Mandala AI ที่มาพร้อมฟีเจอร์มากมายที่จะช่วยวิเคราะห์และวางแผนการตลาดให้กับแบรนด์ของคุณได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

Mandala AI
  • หมวดหมู่ :
สมัครสมาชิกเนื้อหาการตลาดฟรีของเรา

เราจะส่ง Email เนื้อหาใหม่ให้คุณทุกสัปดาห์

This email is already subscribe.