4P Marketing คือ ส่วนประสมทางการตลาดขั้นพื้นฐานในการสร้างสินค้าและบริการของแบรนด์ ซึ่งแน่นอนว่าเหล่านักการตลาดที่มีประสบการณ์รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับสายงานนี้ คงคุ้นเคยกับ 4P กันเป็นอย่างดี
หลักการ 4P ในแรกเริ่มถูกคิดค้นโดย Neil Borden ในปี 1949 โดยมีแนวคิดว่าเป็นองค์ประกอบทางการตลาดที่แบรนด์สามารถนำไปใช้ในการสร้างเทคนิคการโปรโมตสินค้า ซึ่งแนวคิดนี้ก็ถูกใช้อย่างกว้างขวางและถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ จนเริ่มแพร่หลายโดยนักการตลาดชาวอเมริกัน E. Jerome McCarthy ในปี 1960 ที่ได้ต่อยอดแนวคิดของ Borden ให้มีรูปแบบที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น กลายเป็น “4P” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจ 4P Marketing เจาะลึกหัวใจสำคัญในการสร้างสินค้าที่ตรงใจให้กับผู้บริโภคและยังคงบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจของคุณ
แผนการตลาด 4P Marketing คือ
4P Marketing คือ ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ 4 องค์ประกอบที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อตัวผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์ นั่นหมายความว่าปัจจัยทั้ง 4 นี้ เป็นสิ่งที่นักธุรกิจหรือนักการตลาดต้องนำมาพิจารณาในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดให้ละเอียดและคลอบคุลม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด
แผนการตลาด 4P Marketing มีอะไรบ้าง
ส่วนประสมทางการตลาด 4P นั้นมีปัจจัยหลักอยู่ 4 อย่าง คือ Product, Price, Promotion, Place ซึ่งทุกองค์ประกอบถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักการตลาดในการนำมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดให้ธุรกิจเติบโตและนำหน้าคู่แข่งให้ได้มากที่สุด
1. Product
Product นั้น ไม่ได้หมายถึงแค่สินค้าของแบรนด์เพียงแค่อย่างเดียว แต่เป็นการคลอบคลุมทั้งสินค้าและบริการที่แบรนด์ส่งมอบให้แก่ลูกค้า ซึ่งโดยปกติแล้ว Product จะองค์ประกอบดังนี้
- ชื่อ (Name)
- ตราสินค้า (Logo)
- ประโยชน์ในการใช้ (Function)
- รูปลักษณ์ (Feature and Design)
- คุณภาพ (Quality)
- การบรรจุภัณฑ์ (Packaging)
ซึ่งก่อนที่แบรนด์จะสร้าง Product ออกสู่ท้องตลาดได้ ต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายก่อน ว่าพวกเขาคาดหวังอะไร หรือสินค้าหรือบริการไหนที่กำลังเป็นที่ต้องการในท้องตลาด รวมทั้งยังต้องศึกษาคู่แข่งว่าแบรนด์อื่น ๆ นั้นมีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร เพื่อพัฒนา Product ที่โดดเด่นและมอบคุณค่าที่ไม่เหมือนกับเจ้าอื่น ๆ ให้แก่พวกเขา
ตัวอย่าง: Product Skincare ออแกนิค
ผู้หญิงวัยรุ่นรายหนึ่งโพสต์ข้อความบน Facebook ว่า กำลังมองหา Skincare ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และอ่อนโยนเพราะเขาเป็นคนแพ้ง่าย หนำซ้ำยังกล่าวถึงปัญหาใน Skincare ที่ใช้อยู่ว่าบรรจุภัณฑ์นั้นเปิดใช้งานยาก อีกทั้งยังเป็นพลาสติกหนา ที่ย่อยสลายได้ยาก ทำให้เกิดการสร้างขยะในระยะยาว
หากลองวิเคราะห์จากโพสต์นี้แล้ว คุณสามารถตีความได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือ กลุ่มคนที่แพ้ง่าย กลุ่มคนที่ชื่นชอบในผลิตภัณฑ์ที่ไร้สารเคมี และกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ดังนั้น Product ที่แบรนด์คุณต้องพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้รายนี้คือ Skincare ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ โดยส่วนผสมเหล่านั้นได้มาจากเกษตรกรท้องถิ่น โดยมี Package ที่ใช้งานง่ายและทำมาจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ เป็นต้น ด้วยกลยุทธ์นี้นอกจากจะตอบโจทย์ลูกค้าแล้ว ยังสร้างคุณค่าให้กับกลุ่มเป้าหมายและแบรนด์ในเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
สามารถนำไปใช้ในธุรกิจได้อย่างไร
สำหรับการนำ Product ในกลยุทธ์ 4P ไปปรับใช้นั้น หลังจากที่แบรนด์ได้ทำการศึกษากลุ่มเป้าหมาย คู่แข่ง และตลาดแล้ว แบรนด์ต้องคำนึงต้องหลักเกณฑ์เหล่านี้ในการสร้างสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้
- คุณค่าหลักที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับคืออะไร
- จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นั้นมาจากอะไร มีคุณสมบัติอย่างไร ลักษณะทางกายภาพ ขนาด ดีไซน์ ความคงทน เป็นต้น
- ฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมีอะไรบ้าง
- ประโยชน์ของสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคจะได้รับคืออะไร
2. Price
ปัจจัยที่สอง คือ Price หรือมูลค่าของสินค้าและบริการ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจประสบความสำเร็จหรือไม่ นอกจากนี้ Price ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของลููกค้าอีกด้วย เพราะลูกค้ามักจะใช้ราคาเป็นตัวประเมิณว่าคุณค่าที่พวกเขาจะได้รับนั้นสอดคล้องราคาที่แบรนด์ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งลูกค้าแต่ละคนก็มีความเต็มใจในการจ่ายที่ต่างกันอีกด้วย ดังนั้นในฐานะเจ้าของธุรกิจหรือนักการตลาด จะต้องมีกลยุทธ์ในการตั้งราคาให้สอดคล้องกับคุณภาพของสินค้าหรือบริการที่แบรนด์ได้นำเสนอต่อลูกค้า
ตัวอย่าง: Price Skincare ออแกนิค
จากตัวอย่างก่อนหน้า ตามที่ได้กล่าวไปว่าแบรนด์ของคุณนั้นใช้ส่วนผสมออแกนิคในการพัฒนาสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะวัตถุดิบออแกนิคนั้น ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังควบคุมผลผลิตได้ยากกว่าการใช้สารเคมี
ดังนั้นคุณสามารถตั้งราคาสูงกว่าแบรนด์ Skincare ในตลาดทั่วไปได้ หากพิจารณาจากคุณภาพ ส่วนผสมออแกนิค และบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม การกำหนดราคารูปแบบนี้ยังสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ นั่นหมายความว่าพวกเขายังมีความเต็มใจที่จะจ่ายผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับความต้องการและค่านิยมของพวกเขา
สามารถนำไปใช้ในธุรกิจได้อย่างไร
แบรนด์มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการตั้งราคาดังนี้
- Brand Positioning: การกำหนดตำแหน่งของแบรนด์ในตลาดมีความสำคัญต่อการตั้งราคาของสินค้าหรือบริการ หากธุรกิจที่กำหนดแหน่งตัวเองเป็นแบรนด์ราคาสูง โดยที่นำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูงและมีอัฒลักษณ์เฉพาะตัว ในมุมผู้บริโภคแล้วก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ซึ่งการทำงานของ Brand Positioning ทำงานในรูปแบบเดียวกันกับแบรนด์ราคาเป็นมิตรและราคาระดับกลาง
- กลยุทธ์การตั้งราคา (Pricing Strategy): ทั้งนี้แบรนด์สามารถใช้กลยุทธ์ได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็น การตั้งราคาโดยอิงจากคุณค่าของสินค้าและบริการ (Value-based pricing), การตั้งราคาโดยอิงราคาตามท้องตลาด (Competition-based pricing), หรือการตั้งราคาโดยคำนึงถึงกำไรที่ต้องการเป็นหลัก (Cost-plus pricing) เป็นต้น
- รูปแบบการจ่ายเงิน (Payment Form): การมอบทางเลือกที่หลากหลายในการจ่ายเงินก็ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าด้วยเช่นกัน หากแบรนด์มีแค่การจ่ายโดยบัตรเครดิตอย่างเดียว ก็อาจเสียลูกค้าที่มีความสนใจในตัวแบรนด์แต่เป็นผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิตได้
- ทางเลือกด้านราคา: เทคนิคนี้สามารถดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้เสมอ ไม่ว่าจะส่วนลด (Discount) หากมีการซื้อ 2 ชิ้นขึ้น ราคาสำหรับคนที่มี Membership ของแบรนด์ เป็นต้น
3. Place
Place คือ สถานที่หรือช่องทางในการทำให้สินค้าหรือบริการของแบรนด์ไปอยู่ใกล้กลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ซึ่งทุกวันนี้ นอกจากแบรนดืจะสามารถกระจายสินค้าไปยังหน้าร้าน หรือตามห้างสรรพสินค้าได้แล้ว ก็ยังสามารถกระจายผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง แพลตฟอร์ม E-commerce, Website และแอปพลิเคชันของแบรนด์ หรือแม้แต่ Social Media ได้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง: Place Skincare ออแกนิค
หากพิจารณาจากตัวอย่างแล้วนั้น พบว่า ลูกค้าของแบรนด์นั้นเป็นวัยรุ่น ซึ่งมักจะชื่นชอบการซื้อของออนไลน์เป็นหลัก ดังนั้นคุณสามารถกระจายสินค้าของแบรนด์ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Shopee หรือ Lazada ได้และทุกวันนี้ก็ยังมี Marketplace ที่เป็นศูนย์รวมสินค้าออแกนิคอยู่จำนวนหนึ่ง แบรนด์ก็สามารถกระจายสินค้าไปที่ช่องทางนี้ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แบรนด์ก็สามารถเพิ่มแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook และ Instagram ไว้เพื่อสำหรับคอยอัพเดทข้อมูลของสินค้า ในกรณีที่ลูกค้าต้องการสอบถามข้อมูลหรือศึกษาแบรนด์
สามารถนำไปใช้ในธุรกิจได้อย่างไร
แบรนด์สามารถพิจารณาช่องทางในการกระจายสินค้าหรือบริการไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อิงจากปัจจัยเหล่านี้
- ช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Channels)
- ช่องทางที่ลูกค้าอยู่เป็นประจำ (Audience)
- ช่องทางที่สามารถสนับสนุนลูกค้าได้ (Support)
- ช่องทางที่เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ (Business Size)
4. Promotion
Promotion คือ การสื่อสารแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้พวกเขาได้พบเห็น ทำความรู้จักกับแบรนด์และเกิดการซื้อในที่สุด ซึ่งทุกวันนี้การโปรโมตสินค้าส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านกลยุทธ์ Digital Marketing ต่าง ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแบรนด์ควรจะละทิ้งการโปรโมตออฟไลน์หรือตามหน้าร้านไปเลย ยิ่งทำการโปรโมตหลายช่องทางมากเท่าไหร่ ก็ยิงเพิ่มโอกาสให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง: Promotion Skincare ออแกนิค
เมื่อรู้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายมักจะใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการซื้อสินค้า นั่นหมายความว่ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ก็มีพฤติกรรมในการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน แบรนด์สามารถทำการโปรโมตไปยังหน้า Facebook, Instagram, TikTok โดยคอยอัพเดทโปรโมชัน การแชร์ข่าวสาร ทริคการใช้ Skincare ให้ความรู้ด้านสินค้า Eco-Friendly เป็นต้น นอกจากนี้แบรนด์ก็ยังสามารถทำการจ้าง Influencer สาย Eco ที่มีความสนใจในสินค้าออแกนิคและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม มาโปรโมตสินค้า Skincare ให้แบรนด์ได้ด้วยเช่นกัน
สามารถนำไปใช้ในธุรกิจได้อย่างไร
แบรนด์สามารถทำ Promotion สินค้าและบริการได้ดังนี้
- การยิง Ads บน Social Media หลาย ๆ แพลตฟอร์ม
- การทำโปรโมชัน เช่น การแจกคูปองลดราคา หรือสะสมแต้ม
- การทำ PR เช่น การสร้างแคมเปญผ่านแฮชแทก (Hashtag), การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับแบรนด์
- การทำ Influencer marketing
- การทำ Affiliate Marketing
- การทำ SEO (Search Engine Optimization) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายพบเจอสินค้า และบริการของแบรนด์ในหน้าแรกของการค้นหา
- และอื่น ๆ
4P Marketing มีความสำคัญอย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการทำ Marketing และ Digital marketing นั้นมีกลยุทธ์อยู่หลากหลายวิธีเลยทีเดียว ซึ่งอย่างที่กล่าวไปว่า 4P Marketing เป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเหล่านั้น นั่นหมายความว่า 4 องค์ประกอบนี้มีความจำเป็นต่อธุรกิจของคุณอย่างมาก
หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่แน่ใจว่าควรนำหลักการตลาด 4P ไปใช้กับธุรกิจคุณดีไหม? บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจ ความสำคัญของ 4P Marketing ดังนี้
1. ช่วยให้แบรนด์เข้าใจสินค้าและบริการของตนเอง: หลักการ 4P นั้น แม้จะมีเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด แต่ในทางกลับกันก็ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจตัวเองมากที่สุด เพราะแบรนด์จะต้องทำความเข้าใจว่า สินค้าหรือบริการหนึ่งๆ ที่ต้องการผลิตนั้น ตอบโจทย์ลูกค้าในด้านใด ให้คุณค่าอะไร มี Function การทำงานอย่างไร นอกจากนี้ยังทำให้แบรนด์วิเคราะห์ได้ว่าจะพัฒนาสินค้าบริการอย่างไรให้โดดเด่นกว่าคู่แข่งในตลาด
2. แบรนด์ได้ทำความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมาย: แน่นอนว่าเป้าหมายทางธุรกิจคือการตอบสนองความต้องการ สร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างยอดขายให้แก่แบรนด์ ซึ่ง 4P Marketing Mix จะให้ทำแบรนด์รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะแบรนด์จะต้องทำการ Research พฤติกรรมและความชอบของกลุ่มเป้าหมาย และ วิเคราะห์ปัจจัยทั้ง 4 (Product, Price, Place หรือ Promotion) เพื่อให้แบรนด์ได้รู้ว่าจะผลิตสินค้าและบริการแบบไหนออกมา สื่อสารรูปแบบไหนถึงโดนใจผู้บริโภค กำหนดราคาอย่างไรให้ดึงดูดพวกเขาเป็นต้น
3. สามารถออกแบบกลยุทธ์เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งได้: 4P Marketing Mix ช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถออกแบบกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาของสินค้า การพัฒนาสินค้าให้ตรงกับต้องการของลูกค้า การต่อยอดจุดอ่อนของคู่แข่งให้เป็นจุดแข็งของแบรนด์ หรือเลือกช่องทางในการจัดจำหน่ายที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเอาชนะคู่แข่งในตลาดได้
4. สร้างกำไรจากเม็ดเงินที่ลงทุนไปได้: การใช้ส่วนประสมทางการตลาด 4P ช่วยสร้างกำไรจากเงินที่แบรนด์ลงทุนไปได้ เพราะเมื่อแบรนด์สามารถตอบโจทย์ลูกค้าจำนวนหนึ่งได้ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่แบรนด์จะเป็นที่ยอมรับในตลาดนั้น ๆมากขึ้น ก่อให้เกิดการขยายฐานลูกค้า การซื้อซ้ำ และการกระตุ้นยอดขายได้ในที่สุด
วางกลยุทธ์ทางการตลาด 4P Marketing ก่อนเริ่มต้นลงมือทำธุรกิจ
ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากส่วนประสมการตลาด 4P ธุรกิจสามารถสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ 4P Marketing ยังช่วยให้นักการตลาดเองทำความเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ของสินค้าและบริการ ก่อนจะนำเข้าสู่ตลาดได้อย่างคลอบคลุม ที่สำคัญเหล่านักการตลาดเองก็ควรคอยอัพเดทกลยุทธ์ 4P ของแบรนด์เรื่อย ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่เหนียวแน่น ลูกค้า ได้อย่างต่อเนื่องและยังคงขับเคลื่อนการเติบโตและความสำเร็จของธุรกิจตามแนวโน้มทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ