Social Media MarketingSocial ListeningFacebook MarketingInstagram MarketingTikTok Marketing
Try Mandala For Free

SWOT Analysis แนวคิดการวิเคราะห์ของนักธุรกิจ (พร้อมตัวอย่าง)

SWOT Analysis แนวคิดการวิเคราะห์ของนักธุรกิจ (พร้อมตัวอย่าง)

SWOT Analysis อีกหนึ่งกรอบคิดการทำธุรกิจที่ได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักวงกว้างในแวดวงนักการตลาด หรือพูดง่าย ๆ SWOT คือ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค มักกล่าวกันว่าผู้คิดค้นกรอบคิดนี้ คือ Albert Humphrey ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเป็นแนวคิดเมื่อตอนอยู่ที่ Stanford Research Institute ในช่วงปี 1960-1970 นอกจากนี้ Albert Humphrey ยังทำงานเป็นนักวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจ 

เป้าหมายของ SWOT Analysis มุ่งเน้นวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจ โดยประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ก็สำรวจถึงโอกาสและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในภาพรวมตลาดของธุรกิจนั้นด้วย

SWOT Analysis คือ

SWOT Analysis คือ กลยุทธ์วิเคราะห์ทางการตลาดว่าด้วยการประเมินค่าธุรกิจจากองค์ประกอบหลัก 4 อย่าง ได้แก่ Strength (จุดแข็ง), Weakness (จุดอ่อน), Opportunity (โอกาส) และ Threat (อุปสรรค) โดย SWOT ช่วยให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดรู้ว่าธุรกิจของตนมีศักยภาพอย่างไร อันนำไปสู่การตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ในการประกอบกิจการ 

โดยทั่วไปแล้ว SWOT Analysis จะพิจารณาว่า อะไรที่ทำให้ธุรกิจไปได้ดี (Strength) อะไรที่ขัดขวางธุรกิจ (Weakness) ปัจจัยภายนอกใดที่ช่วยเสริมการลงทุนให้กับธุรกิจ (Opportunity) และปัจจัยภายนอกใดที่ลดทอนการต่อยอดของธุรกิจ (Threat)

ทำไม SWOT Analysis ถึง สำคัญกับนักธุรกิจ

ตามที่กล่าวไปข้างต้น SWOT Analysis ถือเป็นแนวคิดวิเคราะห์ธุรกิจที่สำคัญต่อผู้ประกอบการและนักการตลาด เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวมาพร้อมกรอบคิดที่ช่วยให้ประเมินคุณค่าและศักยภาพของธุรกิจได้จากมุมมองหลากหลาย อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดค้นพบวิธีใหม่ที่จะผลักดันธุรกิจให้เติบโตและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและนักการตลาดสามารถประยุกต์ใช้ SWOT Analysis ในการวางแผนทำธุรกิจด้านต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จุดแข็งขึ้นมาชูให้เหนือคู่แข่ง แก้ไขจุดอ่อนก่อนส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ค้นหาและคว้าโอกาสใหม่ ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงอาจกล่าวได้ว่า SWOT ช่วยให้ตัดสินใจทำธุรกิจได้เฉียบขาด วางแผนทำงานดีขึ้น รวมทั้งไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้เร็วกว่าเดิม

เทคนิคสร้าง SWOT Analysis

1. รวบรวมข้อมูลจากคนที่เหมาะสม

การรวบรวมข้อมูลจากคนที่มีความรู้เชิงลึกในแต่ละด้าน ย่อมสามารถจำแนกแจกแจงไอเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่ามุมมองที่แตกต่างกันจะทำให้ได้ไอเดียจากมุมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ประสบการณ์ต่าง ๆ จึงถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้คนเหล่านั้นเห็นภาพการวิเคราะห์ SWOT ได้ชัดกว่านั่นเอง

2. Brainstorming

การรวบรวมไอเดียยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะทำให้เราได้เห็นมุมมองของคนอื่นที่เราอาจมองไม่เห็น ทำให้ต่อยอดความคิดเหล่านั้นเพิ่มได้ โดยการรวบรวมไอเดียอาจจะเป็นการแปะ Post It ที่ที่ทุกคนมองเห็นได้ หรือขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบริษัท

3. จัดหมวดหมู่ไอเดียที่ได้มา

จัดแยกหมวดหมู่แล้วเลือกไอเดียที่เหมาะในการนำไปเขียน SWOT มากที่สุด ในกระบวนการนี้ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการโหวตเพื่อหา Final Thoughts ทำสรุปไอเดียทั้งหมด โดยคำนึงถึงปัจจัยภายในและภายนอก เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ต่อไป

เคล็บลับการวิเคราะห์ SWOT อย่างมีประสิทธิภาพ

  • การวิเคราะห์ SWOT เป็นเพียงการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ และไม่ควรเข้าข้างตัวเองตัวเกินมากเกินไป รายละเอียดทุกอย่างควรอยู่บนความเป็นจริง
  • การวิเคราะห์ SWOT ไม่ใช่การชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจ แต่เป็นการวิเคราะห์แต่ละปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจให้เดินต่อไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย

การวิเคราะห์ SWOT Analysis ในมุมของการทำธุรกิจ

swot analysis คือ

1. Strengths

Strengths คือ จุดแข็งที่ช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าเหนือกว่าคู่แข่ง มักเป็นสิ่งที่ธุรกิจของเรามี ทำได้ดี และเสริมให้ธุรกิจโดดเด่นในเชิงบวก เช่น ฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น ชื่อเสียงแบรนด์ที่มียาวนาน สินค้าหรือบริการที่มีเอกลักษณ์ ทีมงานมากประสบการณ์ และช่องทางของแบรนด์ที่มีคุณภาพสูง โดยเริ่มจากการตั้งคำถาม ดังนี้

  • กระบวนการทางธุรกิจกระบวนการใดที่ประสบความสำเร็จ
  • ทีมงานขององค์กรมีจุดเด่นด้านคุณสมบัติด้านใดบ้าง (เช่น ความรู้ การศึกษา เครือข่ายในแวดวงเดียวกัน ทักษะ และชื่อเสียง)
  • องค์กรมีสินทรัพย์อะไรที่น่าสนใจ (เช่น กลุ่มลูกค้า เครื่องมือต่าง ๆ นวัตกรรมเฉพาะทาง แหล่งเงินทุนชั้นดี หรือสิทธิบัตรอื่น ๆ )
  • ข้อดีที่มีเหนือกว่าคู่แข่งคืออะไร

2. Weaknesses

Weaknesses คือ จุดอ่อนของธุรกิจ จัดเป็นลักษณะด้อนที่ทำให้ธุรกิจเติบโตและเดินหน้าได้จำกัด เช่น ขาดทรัพยากรทางการเงิน อัตราการลาออกของพนักงานสูง การนำเสนอตัวตนแบรนด์ในช่องทางออนไลน์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ระดับความพึงพอใจของลูกค้าต่ำ รวมทั้งสินค้าและบริการด้อยคุณภาพ  ผู้ประกอบการและนักการตลาดอาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่า 

  • อะไรที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้าง
  • กระบวนการทางธุรกิจจำเป็นต้องปรับปรุงด้านใด
  • องค์กรจำเป็นต้องการสินทรัพย์ที่จับต้องได้เพิ่มเติมไหม (เช่น เงินลงทุน เครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ เป็นต้น)
  • เกิดช่องว่างในการทำงานของทีมงานภายในหรือไม่
  • ทำเลที่ตั้งของธุรกิจเข้าถึงยากหรือเปล่า

3. Opportunities

Opportunities คือ โอกาสทางธุรกิจ จัดเป็นเหตุการณ์หรือเงื่อนไขเชิงบวกที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดสามารถยกระดับเป้าหมายของธุรกิจได้ เรียกง่าย ๆ ก็คือ เป็นช่วงเวลาตักตวงผลประโยชน์เข้าองค์กร เช่น ความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งการตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากขึ้น นวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาช่วยแบ่งภาระการทำงาน การร่วมเป็นพันธมิตรกับแบรนด์อื่น เป็นต้น การค้นหาโอกาสทางธุรกิจควรพิจารณาด้วยคำถาม ดังนี้ 

  • ภาพรวมตลาดของธุรกิจกำลังเติบโตและอยู่ในกระแส จนกระตุ้นให้คนหันมาซื้อมากขึ้นไหม
  • มีอีเวนต์หรือกิจกรรมใดที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ที่จะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้องค์กรได้บ้างไหม
  • กลุ่มลูกค้านึกถึงแบรนด์เราเป็นอันดับต้น ๆ หรือไม่

4. Threats

Threats คือ อุปสรรคทางธุรกิจ จัดเป็นเหตุการณ์หรือเงื่อนไขเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร โดยผู้ประกอบการและนักการตลาดจำเป็นต้องพึงระวัง เช่น ความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการของแบรนด์ลดลง เกิดคู่แข่งทางธุรกิจหน้าใหม่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมใหม่ที่ทำการดำเนินธุรกิจติดขัด กิจกรรมทางการตลาดที่ส่งผลเชิงลบ ความเปลี่ยนแปลงของชื่อเสียงและนโยบายขององค์กร เป็นค้น หากต้องการรู้ว่าธุรกิจเผชิญอุปสรรคแบบไหนอยู่ ลองเริ่มจากการค้นหาด้วยคำถามเหล่านี้ 

  • คู่แข่งของแบรนด์คือใครบ้าง 
  • ซัพพลายขององค์กรมีวัตถุดิบที่ตอบโจทย์ราคาตามต้องการหรือไม่ 
  • การพัฒนานวัตกรรมในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้หรือไม่ 
  • การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลบจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร
  • กระแสการตลาดไหนที่จะกลายเป็นอุปสรรคทางธุรกิจขององค์กร

เมื่อเข้าใจภาพรวมขององค์ประกอบของ SWOT Analysis แต่ละตัวแล้ว ลองมาดูตัวอย่างการวิเคราะห์องค์ประกอบแต่ละอย่างตามกรอบคิดดังกล่าวกัน เพื่อให้เข้าใจหลักการวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างวิเคราะห์ SWOT Analysis ของแบรนด์ Upper Crust Pies

Upper Crust Pies

Upper Crust Pies คือ ธุรกิจประเภทคาเฟ่ที่เน้นขายพายผลไม้และพายเนื้อในมิชิแกน ครอบคลุมทั้งแบบพายร้อนพร้อมรับประทาน และพายแช่แข็งที่นำกลับบ้านได้ ตลอดจนยังจำหน่ายสลัดผักสดและเครื่องดื่มต่าง ๆ 

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทวางแผนเปิดสาขาใหม่แถบชานเมือง รวมทั้งเน้นพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ขยายกิจการได้เร็ว ง่าย และไปสู่การสร้างแฟรนไชส์ เมื่อวิเคราะห์ธุรกิจตามกรอบคิด SWOT แล้วนั้น จะได้องค์ประกอบดังนี้

Strength

  1. ทำเลดี ทำเลแถบชานเมืองแห่งแรกจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ซื้อในแถบดังกล่าว
  2. เอกลักษณ์แบรนด์ มีจุดเด่นของการเป็นทางเลือกฟาสต์ฟู้ดที่นำขายอาหารเกรดคุณภาพดี
  3. การจัดการเป็นระบบ ทีมงานมากความสามารถและประสบการณ์ทางธุรกิจที่หลากหลาย 

Weakness

  1. ขาดเงินทุน การลงทุนขยายสาขาของธุรกิจสตาร์อัปเช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนจากนักลงทุน หรือกู้สืนเชื่อจากสถาบันการเงิน
  2. ขาดชื่อเสียง แบรนด์ยังไม่ได้ขึ้นแท่นผู้ผลิตพายเนื้อรายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

Opportunity

  1. การเติบโตของทำเล พื้นที่ชานเมืองที่วางแผนจะขยายสาขาไปนั้นมีอัตราการเติบโตปีละ 8.5%
  2. แหล่งชุมชนของครอบครัววัยทำงาน ย่านดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวที่ต้องทำงานและมีลูกเล็ก พ่อแม่ที่ทำงานและมีลูกไม่ได้มีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกทุกมื้อ ฟาสต์ฟู้ดจึงกลายเป็นตัวเลือกที่เข้ามาตอบโจทย์ Pain Point ส่วนนี้

Threat

  1. คู่แข่งเยอะ ร้านขายพายเนื้อจำหน่ายสินค้าแบบเดียวกัน รวมทั้งมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว

ตัวอย่างวิเคราะห์ SWOT Analysis ในการตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์ E-commerce

ตัวอย่างวิเคราะห์ SWOT Analysis

เจ้าของธุรกิจ A ทำสินค้าประเภทแม่และเด็กขาย ต่อมามีแผนเปิดไลน์ธุรกิจใหม่ โดยจะลงไปตีตลาดแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์หรือ E-commerce ในไทย โดยหนึ่งในคู่แข่งของธุรกิจกลุ่มนี้คือแพลตฟอร์ม Z ซี่งเสนอข้อเสนอว่าต้องการซื้อสินค้าของเจ้าของธุรกิจ A 

ถึงอย่างนั้น นาย A ยังไม่มั่นใจว่าควรรับข้อเสนอ โดยนำสินค้าของตนไปขายบนแพลตฟอร์มคู่แข่ง หรือเก็บไว้ขายบนแพลตฟอร์มใหม่ของตนที่กำลังจะเปิดใหม่ดี ฝ่ายกลุ่มผู้บริหารของแพลตฟอร์มจึงลองใช้กรอบคิด SWOT มาช่วยวิเคราะห์ประกอบการวางแผนและตัดสินใจ ดังนี้ 

Strength

  1. สินค้าของนาย A ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ
  2. เว็บไซต์ของแบรนด์ติดอันดับต้นบนหน้า Google โดยติดด้วยคำค้นหาที่เกี่ยวกับแบรนด์โดยตรง 
  3. นาย A ดำเนินกิจการด้วยกระบวนการและทีมงานภายใน ซึ่งลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงานแรงงานข้างนอก

Weakness

  1. ระบบช่วยเหลือลูกค้าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ซึ่งทำให้เกิดรีวิวเชิงลบ
  2. สินค้าบางอย่างทำกำไรสูงมาก จึงต้องขายสินค้านั้นในปริมาณมากเป็นประจำ
  3. มีลูกค้าขาประจำน้อย ส่งผลให้ต้องลงเงินกับการทำการตลาดและโฆษณามาก เพื่อดึงดูดลูกค้ารายใหม่

Opportunity

  1. หนึ่งในคู่แข่งหลักเพิ่งตัดสินใจปิดกิจการ ทำให้เกิดช่องว่างในตลาดเพิ่มขึ้น
  2. หนึ่งในสินค้าของแบรนด์เพิ่งกลายเป็นกระแสอย่างมาก อาจส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 
  3. ทางองค์กรเพิ่งเริ่มทำพันธมิตรกับ Influencer และกิจกรรมทางการตลาดแบบ Affiliate

Threat

  1. สินค้าที่ขายนั้นไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่กระแสรักษ์โลกกำลังเติบโตนั้นอาจส่งผลต่อความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อแพลตฟอร์มด้วย 
  2. ความสามารถในการขายสินค้าของแบรนด์ต้องพึ่งแพลตฟอร์ม E-commerce ภายนอกเป็นหลัก 
  3. เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอาจส่งผลต่อการขนส่งและกระจายสินค้าได้

การวิเคราะห์ TOWS แตกต่างจาก SWOT อย่างไร 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฟังก์ชันของกฎสองอย่างนี้แตกต่างกัน กล่าวคือ SWOT ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ช่วยวางแผนและกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการและนักการตลาดจะระบุได้ว่าจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของธุรกิจคืออะไรบ้าง ส่วน TOWS ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยลงมือทำจริง แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก การวางกลยุทธ์ต่าง ๆ จะอิงสองสิ่งนี้เป็นหลัก 

ที่สำคัญ TOWS เน้นไปที่ปัจจัยภายนอกเป็นอันดับแรก ผู้ประกอบการและนักการตลาดจึงต้องวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและสภาพแวดล้อมอื่นก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาจุดเชื่อมที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบภายในธุรกิจ

ข้อจำกัดของ SWOT Analysis

แม้ SWOT Analysis จะถือว่าสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาธุรกิจ อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจความสำคัญของภาพรวมการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจแล้วนั้น การวิเคราะห์ด้วยกรอบคิดนี้ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ผู้ประกอบการและนักการตลาดพึงระวัง ดังนี้ 

  1. การวิเคราะห์ด้วยกรอบคิดดังกล่าวอาจไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส หรืออุปสรรคบางอย่างตามวิเคราะห์ของกรอบคิดนี้ อาจทำให้ผู้ประกอบการหรือนักการตลาดมองข้ามรายละเอียดบางอย่างไปได้ 
  1. เมื่อว่าด้วยการวิเคราะห์แล้ว ก็มีโอกาสที่การตีความ
  2. ข้อมูลที่ได้รับมานั้นอาจไม่ได้มาจากข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่บางอย่างอาจวิเคราะห์ด้วยเหตุผลหรือมุมมองส่วนบุคคลเข้าไปด้วย 
  1. SWOT Analysis เน้นจับเอาปัจจัยเฉพาะช่วงเวลามาวิเคราะห์เท่านั้น ซึ่งองค์ประกอบที่ได้มาตามกรอบคิดบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา กรอบคิดนี้จึงไม่ได้ครอบคลุมข้อเท็จจริงของจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของธุรกิจในระยะยาว แต่เป็นข้อมูลที่นำมาใช้พิจารณาได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ภาพรวมของ SWOT Analysis

อาจกล่าวได้ว่า SWOT Analysis คือ อีกหนึ่งหน่วยชี้วัดธุรกิจที่สำคัญ โดยช่วยให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดเรียนรู้และทำความเข้าใจภาพรวมของแบรนด์และองค์กรว่ามีศักยภาพอย่างไร และจะต่อยอดต่อไปได้อย่างไรบ้าง โดยพิจารณาจากสิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่ขาด โอกาสที่จะเข้ามา และอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น ถึงอย่างนั้น SWOT ก็มีข้อจำกัดในด้านของปัจจัยที่ใช้วิเคราะห์นั้นเป็นของช่วงเวลาหนึ่ง อีกทั้งอาจได้องค์ประกอบที่มาจากความคิดส่วนบุคคล ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ผู้ประกอบการและนักการตลาดจึงประยุกต์ใช้ SWOT เป็นกรอบคิดเบื้องต้นได้ และพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบในการวางแผนและตัดสินใจทำกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อไป

mandala ai ฟรี
  • หมวดหมู่ :
สมัครสมาชิกเนื้อหาการตลาดฟรีของเรา

เราจะส่ง Email เนื้อหาใหม่ให้คุณทุกสัปดาห์

This email is already subscribe.