Social Media MarketingSocial ListeningFacebook MarketingInstagram MarketingTikTok Marketing
Try Mandala For Free

Rebranding คือ? สร้างจุดพลิกผันให้ธุรกิจได้อย่างไร [พร้อมกรณีศึกษา]  

Rebranding คือ? สร้างจุดพลิกผันให้ธุรกิจได้อย่างไร [พร้อมกรณีศึกษา]  

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้น การ Rebranding หรือการปรับโฉมแบรนด์ใหม่ เป็นกลยุทธ์สำคัญที่หลายธุรกิจนำมาใช้เพื่อสร้างจุดพลิกผันและฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตนเอง แต่ Rebranding คืออะไรกันแน่ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจได้อย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาบอกกัน พร้อมตัวอย่างแบรนด์ดังที่ประสบความสำเร็จในการ Rebranding มาให้ดูเป็นกรณีศึกษาด้วย

Rebranding คืออะไร?  

Rebranding คือ กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และความรู้สึกที่มีต่อแบรนด์ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ซึ่งการรีแบรนด์ดิ้งอาจครอบคลุมทั้งการเปลี่ยนโลโก้ สโลแกน บรรจุภัณฑ์ การสื่อสารทางการตลาด หรือแม้กระทั่งการปรับโครงสร้างองค์กรและกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างมุมมองใหม่ในสายตาของลูกค้า และปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง

ประเภทของการ Rebranding 

การ Rebranding สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้ 

1. การเปลี่ยนโดยสมบูรณ์ (Completely Change)

การเปลี่ยนแปลงโดยสมบูรณ์ คือ การเปลี่ยนแปลงทุกองค์ประกอบของแบรนด์ ตั้งแต่ชื่อ โลโก้ สี ไปจนถึงแนวคิดทางการตลาด เป็นการปรับเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง การรีแบรนด์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อบริษัทต้องการเปลี่ยนทิศทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ หรือต้องการหลีกหนีจากภาพลักษณ์เดิมที่อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ 

ยกตัวอย่างเช่น Facebook ได้ Rebranding เป็น Meta ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนวิสัยทัศน์และทิศทางของบริษัทจากการเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไปสู่การเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี Metaverse ด้วย 

ซึ่งข้อดีของการ Rebranding แบบสมบูรณ์ สามารถสร้างภาพลักษณ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน เป็นการเปิดโอกาสให้เข้าถึงตลาดและกลุ่มลูกค้าใหม่ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็มีข้อควรพิจารณาอย่างรอบคอบอย่างข้อด้วยกัน เช่น มีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียการรับรู้และความภักดีของลูกค้าเดิม ต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากในการดำเนินการ อาจเกิดความสับสนในตลาดในระยะแรก ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

2. การเปลี่ยนแปลงบางส่วน (Partial Rebrand)

การเปลี่ยนแปลงบางส่วน เป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะบางส่วนของแบรนด์ แต่ยังคงรักษาแก่นหลักและเอกลักษณ์สำคัญของแบรนด์เอาไว้ เช่น การเปลี่ยนโลโก้หรือการปรับสโลแกนเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้มักถูกนำมาใช้เมื่อบริษัทต้องการปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ทันสมัยขึ้น หรือต้องการสื่อสารคุณค่าบางอย่างของแบรนด์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดอย่างถอนรากถอนโคน

ยกตัวอย่าง Starbucks ที่ปรับโลโก้ให้เรียบง่าย ด้วยการตัดข้อความ “Starbucks Coffee” ออกจากโลโก้ เน้นภาพนางเงือกให้ชัดเจนขึ้น ลดรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้ดูทันสมัยและเรียบง่าย

เปลี่ยนสีพื้นหลังจากสีดำเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้ Starbucks สามารถรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้โลโก้ดูทันสมัยและใช้งานได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิทัล

3. การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างยกเว้นชื่อ

การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างยกเว้นชื่อ เป็นกลยุทธ์การ Rebranding ที่มีความท้าทายและซับซ้อน เนื่องจากต้องรักษาชื่อแบรนด์เดิมไว้ แต่ปรับเปลี่ยนทุกองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง วิธีนี้มักถูกนำมาใช้เมื่อแบรนด์มีการรับรู้ในวงกว้างและมีคุณค่าสูง แต่ต้องการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป หรือต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ 

ยกตัวอย่างการ Rebranding ทุกอย่างยกเว้นชื่อ คือ Old Spice ซึ่งเป็นแแบรนด์สบู่และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยผู้ชายจากอเมริกาที่มีอายุเก่าแก่หลายสิบปี โดย Old Spice ได้ทำการ Rebranding ครั้งใหญ่เพื่อสลัดภาพแบรนด์คุณปู่หลายอย่าง เช่น ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ จากผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายสูงวัย เป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความมั่นใจ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัยและดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่อายุน้อยลง ใช้การตลาดแบบไวรัลและโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแคมเปญ “The Man Your Man Could Smell Like” ที่โด่งดังไปทั่วโลก การขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เป็นต้น

4. การเปลี่ยนแปลงแบบมีวิวัฒนาการ (Evolution)

การเปลี่ยนแปลงแบบมีวิวัฒนาการ หรือ Evolution Rebranding เป็นกลยุทธ์การปรับภาพลักษณ์แบรนด์ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่าง ๆ ของแบรนด์ทีละส่วนอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์และคุณค่าหลักของแบรนด์ไว้ วิธีนี้มุ่งเน้นการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาด เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค โดยไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันที่อาจสร้างความสับสนให้กับลูกค้า 

วิวัฒนาการของแบรนด์โคคาโคล่า

ยกตัวอย่างเช่น Coca-Cola ที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย เช่น ทั้งการปรับโลโก้ให้ดูมีมิติและเงาเพื่อความทันสมัย การเปิดตัวบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ 100% การปรับสูตรและรสชาติ Coca-Cola Zero Sugar ที่มีรสชาติใกล้เคียงกับรสดั้งเดิมมากขึ้น การขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ Coca-Cola Life ที่ใช้สารให้ความหวานจากหญ้าหวาน 

ประโยชน์ที่จะได้รับ vs. ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการ Rebranding 

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการ Rebranding เช่น

  • ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูน่าสนใจและทันสมัย
  • สามารถสะท้อนถึงการพัฒนาและความก้าวหน้าของธุรกิจ
  • สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่หรือกลุ่มที่ไม่เคยสนใจแบรนด์มาก่อน
  • ช่วยให้แบรนด์สามารถปรับตัวเข้ากับเทรนด์ใหม่ ๆ ในตลาดได้ดียิ่งขึ้น
  • ช่วยรักษาลูกค้าเดิมและเพิ่มความพึงพอใจ
  • ช่วยเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาด
  • ช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
  • การ Rebranding ช่วยให้แบรนด์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นมากขึ้น
  • แสดงให้เห็นว่าแบรนด์ใส่ใจและพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการ Rebranding เช่น

  • ลูกค้าเดิมอาจไม่คุ้นเคยและเกิดความสับสนในการจดจำหรือค้นหาแบรนด์ หากมีการเปลี่ยนชื่อหรือโลโก้อย่างมาก
  • ลูกค้าอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวและทำความเข้าใจกับภาพลักษณ์ใหม่
  • การ Rebranding มักมีค่าใช้จ่ายสูงในการออกแบบ การผลิตสื่อใหม่ การปรับเปลี่ยนวัสดุต่าง ๆ การโฆษณา และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่
  • ความเสี่ยงในการสูญเสียลูกค้าเดิมที่ไม่คุ้นเคยกับการรีแบรนด์ใหม่ เพราะอาจรู้สึกว่าแบรนด์ใหม่ไม่ตรงกับความต้องการหรือรสนิยมของพวกเขา
  • การ Rebranding ที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมหรือจุดยืนเดิมของแบรนด์ อาจสร้างความสับสนและไม่น่าเชื่อถือ
  • หากการวิจัยตลาดไม่เพียงพอ อาจทำให้ภาพลักษณ์ใหม่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
  • การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มผู้บริโภคได้
  • หากทำไม่ดีอาจทำลายภาพลักษณ์เดิมที่มีอยู่

3 ตัวอย่างการ Rebranding พลิกโฉมแบรนด์กลับมาตีตลาดได้ปังกว่าเดิม 

1. ชาตรามือ

ชาตรามือ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการ Rebranding ในวงการเครื่องดื่มของไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นที่เป็นชาแบรนด์เก่าแก่ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะชาที่นิยมขายตามรถเข็นทั่วไป ซึ่งชาตรามือได้ทำการปรับโฉมครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่การเป็นเครื่องดื่มทางเลือกใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าประทับใจ เช่น

  • ปรับเปลี่ยนโลโก้และอัตลักษณ์แบรนด์ให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมบางส่วนไว้
  • เปิดร้านค้าปลีกของตัวเองในรูปแบบ Flagship Store หรือ Pop-up Store ในห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงขยายสาขาไปยังต่างประเทศด้วย
  • นำเสนอภาพลักษณ์ของชาตรามือในฐานะเครื่องดื่มที่มีคุณภาพสูง มีความพรีเมียม แต่ยังคงความเป็นไทยและความเข้าถึงได้
  • ใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการทำโฆษณาออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดีย และการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง
  • ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้และความน่าสนใจให้กับแบรนด์
  • พัฒนาสายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น ชานม ชากุหลาบ ชาผลไม้ ซอฟต์เสิร์ฟ กาแฟ ฯลฯ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น

ผลลัพธ์จากการ Rebranding ครั้งนี้ทำให้ชาตรามือสามารถยกระดับภาพลักษณ์และขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังคงรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ ส่งผลให้ยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้างและเป็นที่จดจำในฐานะแบรนด์ชาที่ทันสมัยและมีคุณภาพ


2. ศรีจันทร์

แบรนด์ศรีจันทร์ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการ Rebranding ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในวงการความงามของไทย จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียง “ผงหอมศรีจันทร์” ซึ่งเป็นแป้งที่ใช้สำหรับทาหน้า ปัจจุบันได้ก้าวกระโดดสู่การเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์ความงามที่ตอบโจทย์สาวยุคใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนชื่อจาก “ผงหอมศรีจันทร์” มาเป็น “แป้งศรีจันทร์” ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัยและเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ แต่การ Rebranding ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเปลี่ยนชื่อเท่านั้น แบรนด์ยังได้ดำเนินการปรับปรุงในหลายด้าน เช่น

แป้งศรีจันทร์
cr. facebook.com
  • การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์: ศรีจันทร์ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงสูตรให้มีคุณภาพสูงขึ้น โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ผสมผสานกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางความงาม ทำให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและเหมาะกับผิวของคนยุคปัจจุบัน
  • การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่: บรรจุภัณฑ์ได้รับการออกแบบให้มีความสวยงาม ทันสมัย และใช้งานสะดวก สะท้อนถึงความเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงกลิ่นอายของความเป็นไทยไว้อย่างลงตัว
  • การปรับภาพลักษณ์แบรนด์: ศรีจันทร์ได้ปรับเปลี่ยนโลโก้และสีสันของแบรนด์ให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น มีการใช้พรีเซนเตอร์อย่างใบเฟิร์น พิมพ์ชนก พร้อมทั้งสร้างแคมเปญการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ โดยเฉพาะสาว Gen Y และ Gen Z
  • การขยายไลน์ผลิตภัณฑ์: นอกจากแป้งฝุ่นแล้ว ศรีจันทร์ยังได้ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมความต้องการด้านความงามมากขึ้น เช่น ลิปสติก แป้งตลับ รองพื้น ฯลฯ
  • การใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล: แบรนด์ได้เพิ่มการใช้สื่อสังคมออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้และความผูกพันกับลูกค้ายุคใหม่

ผลลัพธ์จากการ Rebranding ครั้งนี้เป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์ของศรีจันทร์ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีความเป็นไทย นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งให้การตอบรับอย่างดีต่อผลิตภัณฑ์ความงามที่มีรากฐานจากธรรมชาติและภูมิปัญญาไทย


3. แหนมดอนเมือง กม. 26

แหนมดอนเมือง กม. 26 ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 40 ปี ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในวงการอาหารไทย ด้วยการรีแบรนด์ครั้งใหญ่  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความฮือฮาในหมู่ผู้บริโภค แต่ยังเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจอื่น ๆ  

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้แหนมดอนเมือง กม. 26 ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อรักษาความนิยมและขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งการ Rebranding ของแหนมดอนเมือง กม. 26 ไม่เพียงแต่เป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจทั้งหมดให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคสมัยใหม่ ผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น

  • การเลือกใช้สีสันที่สดใหม่: แหนมดอนเมือง กม. 26​ ได้เลือกใช้สีชมพูช็อคกี้-พิงค์ เป็นสีหลักในการสื่อสารแบรนด์ สร้างความโดดเด่นและดึงดูดสายตา เพื่อสื่อถึงความสดชื่น ทันสมัย และมีชีวิตชีวา ซึ่งตรงกับภาพลักษณ์ใหม่ที่แบรนด์ต้องการนำเสนอ
  • ใช้ไอดอลกลุ่มใหม่: การเปิดตัวกลุ่มสาว NMD 26 ไอดอล T-pop ในลุคเปรี้ยวใส เพื่อเชื่อมโยงแบรนด์เข้ากับวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย โดยไอดอลกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ แต่ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่สดใหม่และเข้าถึงง่ายให้กับผลิตภัณฑ์แหนมอีกด้วย
  • ปรับวิธีการสื่อสารแบบใหม่: แบรนด์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารโดยนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบที่หลากหลายและทันสมัย เน้นการใช้สื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมนำเสนอเรื่องราวและประโยชน์ของแหนมในมุมมองใหม่ ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นความสนใจและสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
  • นวัตกรรมผลิตภัณฑ์: การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง “แหนมป๊อป” ที่มาพร้อมบรรจุภัณฑ์แบบ Easy Peel แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายและความทันสมัย สามารถฉีกห่อ กินแหนมได้ง่ายโดยไม่เลอะมือ 
  • การขยายมุมมองการบริโภค: แบรนด์ได้นำเสนอแนวคิดใหม่ในการบริโภคแหนม โดยไม่จำกัดเพียงแค่การเป็นกับแกล้มในวงเหล้าเท่านั้น แต่ยังสามารถรังสรรค์เป็นเมนูหลากหลาย ตั้งแต่อาหารมื้อหนักไปจนถึงขนมทานเล่นมื้อเสริม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ และดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น

Rebranding ให้สำเร็จ! ศึกษาตลาด ทำให้ดีกว่าเดิม มัดใจลูกค้าให้ได้ 

การ Rebranding ไม่ใช่เพียงแค่การปรับโฉมภายนอกของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยั่งยืนกับลูกค้า ดังนั้นเพื่อให้การ Rebranding ประสบความสำเร็จ จะต้องศึกษาและเข้าใจตลาดอย่างละเอียด พร้อมทั้งปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม ซึ่งการใช้เทคโนโลยี AI อย่าง Mandala AI มาใช้ในการศึกษาตลาดเพื่อให้เข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาจุดที่สามารถพัฒนาได้ รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มตลาดในอนาคต เพื่อให้การปรับปรุงเป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้อง จะช่วยยกระดับและสร้างโอกาสทางธุรกิจ จะช่วยให้กระบวนการ Rebranding ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น และสร้างความสำเร็จในระยะยาวได้

สมัครสมาชิกเนื้อหาการตลาดฟรีของเรา

เราจะส่ง Email เนื้อหาใหม่ให้คุณทุกสัปดาห์

This email is already subscribe.