การเข้าใจลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นด้านความชอบ ความสนใจ รวมไปถึงพฤติกรรมของพวกเขาต่างก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จล้วนให้ความสำคัญ แต่ในยุคที่การแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง การสำรวจลูกค้าแบบทั่วไปอาจไม่เพียงพออีกต่อไป การใช้กลยุทธ์ “AIDA Model” เพื่อเข้าใจถึงกระบวนการการตัดสินใจซื้อของลูกค้าอย่างลึกซึ้งจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องเรียนรู้
AIDA Model คืออะไร?
AIDA Model คือ กระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้าผ่านลำดับความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน โดยที่ AIDA ย่อมาจาก
- Attention: ดึงดูดความสนใจ
- Interest: กระตุ้นความสนใจ
- Desire: กระตุ้นความต้องการ
- Action: กระตุ้นการตัดสินใจ
ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็น Purchase Funnel ของลูกค้าในแต่ละขั้นตอนก่อนที่จะตัดสินใจในการซื้อสินค้าและบริการ เปรียบเสมือนหัวใจของการทำการตลาดเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของตน Model นี้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1898 โดย Elias St. Elmo Lewis รวม ๆ แล้วมีอายุมากกว่า 126 ปี แต่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมสำหรับธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องการทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าในเชิงลึก
Aida Model เป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจอย่างไร
- เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า
จริงที่ธุรกิจต่างก็มีการสำรวจตลาดก่อนที่จะเริ่มพัฒนาสินค้าและบริการ แต่ AIDA Model ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้ลึกซึ้งมากขึ้นโดยเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าจะตอบสนองตั้งแต่เริ่มรู้จักสินค้าและบริการ ได้แก่ ดึงดูดความสนใจ (Attention) สร้างความสนใจ (Interest) กระตุ้นความต้องการ (Desire) และกระตุ้นการตัดสินใจ (Action) ซึ่งเป็นการแสดงออก 4 ขั้นตอนหลัก เมื่อลูกค้ากำลังตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ต่างจากการเข้าใจลูกค้าเพียงแค่ผิวเผินว่าเขาสนใจอะไร เมื่อธุรกิจเข้าใจถึงพฤติกรรมเหล่านี้แล้วก็สามารถต่อยอดในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร
AIDA Model ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างข้อความและโฆษณาที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลและข้อความที่เข้ากับความต้องการและความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อมั่นและสนใจในสินค้าหรือบริการมากขึ้น เช่น การใช้ภาพลักษณ์ที่น่าสนใจ การสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นต้น ทำให้การสื่อสารมีความสมบูรณ์และสร้างผลกระทบต่อการตอบสนองของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ยาวนานกับลูกค้าในระยะยาว
- เพิ่มยอดขาย
ธุรกิจสามารถเพิ่มยอดขายได้โดยใช้ AIDA Model เริ่มจากการสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้พวกเขาเริ่มสนใจในสินค้าหรือบริการ จากนั้นเพิ่มความสนใจให้กับลูกค้าโดยใช้เครื่องมือการตลาดและโฆษณาที่เหมาะสม เช่น คอนเทนต์ที่น่าสนใจ ภาพลักษณ์ที่สร้างความประทับใจ หรือโปรโมชันที่น่าดึงดูดเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการ และสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการโดยการให้ประสบการณ์การซื้อและบริการหลังการขายที่ดี เพื่อสร้างความพึงพอใจและความสุขให้กับลูกค้า ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
- ประหยัดเวลาและทรัพยากร
การใช้ AIDA Model ช่วยธุรกิจประหยัดเวลาและทรัพยากรได้โดยการโฆษณาและสื่อสารที่เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการสร้างข้อความและโปรโมชันที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่ การใช้ Model นี้ช่วยลดความสับสนและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากธุรกิจสามารถใช้ทรัพยากรในการสื่อสารและการตลาดที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ใช่และเป็นประโยชน์มากที่สุด การประหยัดเวลาและทรัพยากรในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้ไปในกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าได้ในอนาคต
- วัดผลได้
การใช้ AIDA Model ช่วยธุรกิจวัดผลได้อย่างชัดเจนโดยตรวจสอบและวัดประสิทธิภาพของกิจกรรมของลูกค้าในแต่ละขั้นตอนของโมเดล
- วัดการรับรู้ (Awareness) จากการวัดจำนวนผู้ชมโฆษณา การคลิกเข้าชมเว็บไซต์ หรือการเข้าถึงเนื้อหาทางโซเชียลมีเดีย เพื่อตรวจสอบว่าลูกค้ามีการรับรู้และมองเห็นข้อความหรือโปรโมชันของธุรกิจหรือไม่
- วัดความสนใจ (Interest) โดยการตรวจสอบจำนวนคลิกหรือการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือการสมัครรับข่าวสาร ที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีความสนใจและกำลังสนใจผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจ
- วัดความปรารถนา (Desire) โดยการตรวจสอบจำนวนการเพิ่มสินค้าในตะกร้าหรือการส่งคำสั่งซื้อ หรือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานหรือประสิทธิภาพของสินค้า
- วัดการกระทำ (Action) โดยการตรวจสอบยอดขายจริง เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนจากการเยี่ยมชมเป็นการซื้อ หรือการสมัครสมาชิก ซึ่งเป็นการวัดว่ากิจกรรมการตลาดสามารถส่งผลให้เกิดการกระทำที่ต้องการได้หรือไม่
AIDA ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
1. Attention – A
ส่วนประกอบแรกของ AIDA Model คือ Attention หรือการรับรู้ พูดง่าย ๆ คือการทำให้กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจรู้จักสินค้าและบริการของเราก่อนโดยอาจจะใช้โปรโมชัน เรื่องราวของธุรกิจที่น่าสนใจ หรือคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับลูกค้าในการดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่จะกลายมาเป็นลูกค้าในอนาคต ธุรกิจจะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ ความสนใจ รายได้ อาชีพ ความชอบ ปัญหา และพฤติกรรมเพื่อสามารถดึงดูดเป้าหมายได้ตรงจุดได้ดีขึ้น
ตัวอย่างแคมเปญที่ใช้ Attention เช่น แคมเปญ “Dumb Ways to Die” ของสถานีรถไฟใต้ดินในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลียเป็นตัวอย่างแคมเปญด้านความปลอดภัยยอดเยี่ยมที่ใช้กลยุทธ์ Attention (ดึงดูดความสนใจ) ได้อย่างโดดเด่น
- แทนที่จะใช้ภาพรณรงค์แบบเดิม ๆ แคมเปญนี้เลือกใช้มิวสิควิดีโอแอนิเมชันที่ร่าเริง สดใส แต่เนื้อหาเพลงกลับพูดถึง “วิธีตายแบบโง่เขลา” ที่เกิดจากความประมาท เช่น การยืนรอรถไฟใกล้ราวกั้น
- เพลงประกอบมิวสิควิดีโอมีท่วงทำนองสนุกสนาน ติดหู “Dumb Ways to Die, so many dumb ways to die” กลายเป็นไวรัลที่ผู้คนร้องตามกันได้ทั่วโลก
- แม้จะสื่อสารเรื่องความปลอดภัยที่จริงจัง แต่แคมเปญนี้เลือกเล่นกับอารมณ์ขำทำให้คนดูรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่เครียด
- มิวสิควิดีโอเผยแพร่ผ่านช่องทาง YouTubeและกลายเป็นไวรัล มียอดวิวทะลุ 300 ล้านครั้ง
ทำให้ผู้คนจดจำข้อความด้านความปลอดภัยได้มากขึ้น อุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาทบนสถานีรถไฟลดลงอย่างเห็นได้ชัด และแคมเปญนี้ได้รับรางวัลด้านโฆษณาหลายรางวัล
2. Interest-I
หลังจากที่กลุ่มเป้าหมายมีการรับรู้และมีความสนใจในสินค้าหรือบริการ ขั้นต่อไปคือการสร้างความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น โดยการเสนอข้อมูลเพิ่มเติมหรือคุณสมบัติที่น่าสนใจเพื่อเพิ่มความคิดเห็นเชิงบวกและประโยชน์ที่จะได้รับจากสินค้าหรือบริการ อาจใช้โฆษณาที่ดึงดูด ข้อความที่จำง่าย หรือเพลงที่ติดหูเพื่อเพิ่มความสนใจ และที่สำคัญคือต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณาซ้ำๆ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายหันมาอยากได้สินค้าและบริการนั้น
ตัวอย่างแคมเปญที่ใช้ Interest เช่น แคมเปญ “Real Beauty” ของ Dove ที่เน้นการสร้างความรู้สึกของความสวยงามที่แท้จริงในผู้หญิงทุกคน แคมเปญนี้ไม่ได้ใช้โฆษณาที่เน้นคุณสมบัติของสินค้า แต่มุ่งเน้นการสร้างความรู้สึกที่ดีในร่างกายของผู้หญิงโดยใช้ภาพของผู้หญิงที่มีความหลากหลายและความเป็นจริง
- ดึงดูดความสนใจผ่านการใช้ภาพผู้หญิงที่มีรูปร่าง หน้าตา สีผิว และวัยที่หลากหลาย และนำเสนอเนื้อหาที่ท้าทายมาตรฐานความงามแบบเดิม
- กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมผ่านการเชิญชวนให้ผู้หญิงแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับความงาม
- จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมั่นใจในตัวเอง
- สร้างความสัมพันธ์โดยการสื่อสารกับผู้หญิงอย่างสม่ำเสมอ
แคมเปญ “Real Beauty” ของ Dove ได้กลายเป็นกระแสที่เปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ในการมองความสวยงาม และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับโลก ด้วยการสร้างความสนใจในเรื่องของความสวยงามที่แท้จริงในผู้หญิงทุกคน
3. Desire-D
ขั้นตอนนี้คือขั้นตอนที่กลุ่มเป้าหมายเริ่มหันมาสนใจในตัวธุรกิจแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าสินค้าและบริการจะตอบโจทย์กับปัญหาของพวกเขาไหม ดังนั้นธุรกิจจะต้องสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าและบริการของธุรกิจจะสามารถแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้ ถ้าพิจารณาแล้วตอบโจทย์จริงก็จะทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความอยากได้สินค้าและบริการ
ตัวอย่างแคมเปญที่ใช้ Desire เช่น แคมเปญ “Just Do It” ของ Nike ซึ่งเป็นแคมเปญที่มุ่งเน้นการกระตุ้นความปรารถนาในการทำบางสิ่ง โดยเน้นให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความพลิกแพลงในการดำเนินการ การท้าทายตนเอง และการพัฒนาตนเองผ่านการทำกิจกรรมที่มีความหมาย
ใช้เรื่องราวของนักกีฬาและบุคคลที่มีอิทธิพลในการสร้างความสนใจและความปรารถนาในการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬาหรือการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการมองมุมกลับว่าการออกกำลังกายไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขัน แต่เป็นวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและสร้างความสุข
- เข้าใจความปรารถนาของกลุ่มเป้าหมายว่าผู้คนต้องการเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง ต้องการความสำเร็จ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
- Nike นำเสนอสินค้า โฆษณา และกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการของนักกีฬา
แคมเปญ “Just Do It” ได้สร้างความตั้งใจให้กับกลุ่มเป้าหมายที่อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬา และให้กำลังใจในการเริ่มต้นทำสิ่งที่ตนเองต้องการ ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกถึงความสามารถของตนเองที่จะต่อสู้และทำสิ่งที่ตนเองตั้งใจให้ได้ Nike จึงกลายเป็นแบรนด์ sportswear ที่ได้รับความนิยม ผู้คนมีแรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย และชุมชนนักกีฬาเติบโต
4. Action-A
ขั้นตอนนี้คือสิ่งที่ทุกธุรกิจต้องการ เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่กลุ่มเป้าหมายกำลังตัดสินใจจะกลายเป็นลูกค้า หรือตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง ดังนั้นธุรกิจจำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าลูกค้าจะได้อะไรจากการซื้อสินค้าและบริการ ต้องซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางไหน ชำระเงินอย่างไร และหลังจากที่ซื้อสินค้าและบริการไปแล้วจะมีบริการดูแลหลังการขายอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างแคมเปญที่ใช้ Action เช่น แคมเปญ “Share a Coke” ของ Coca-Cola ใช้ Action โดยการให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมการโฆษณา โดยการแบ่งปันภาพหรือวิดีโอของขวด Coca-Cola ที่มีชื่อของตนเองในโซเชียลมีเดีย โดยใช้แฮชแท็ก #ShareACoke หรือ #ShareACokeWithAFriend บนโซเชียลมีเดีย เพื่อแชร์ประสบการณ์ของตนเองกับเพื่อน ๆ และผู้ติดตามอื่น ๆ ที่อยู่ในชุมชนของ Coca-Cola เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเชื่อมโยงกันในกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการกระตุ้นให้ลูกค้าแบ่งปันรูปภาพและวิดีโอ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการโฆษณา แคมเปญ “Share a Coke” ได้สร้างสรรค์ประสบการณ์ที่มีความสนุกสนานและมีความหมายแก่ผู้บริโภค ซึ่งส่งผลให้มีการเชื่อมโยงและการแสดงความสนใจต่อแบรนด์ Coca-Cola มากขึ้น
เคล็ดลับการสร้าง AIDA Model ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ
1. กำหนดเป้าหมาย: สิ่งแรกที่ควรต้องทำคือธุรกิจต้องเริ่มกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้กลยุทธ์ AIDA อย่างชัดเจนว่าต้องการอะไร เช่น เพิ่มยอดขาย เพิ่มจำนวนผู้ติดตามใหม่ๆ หรือเพิ่มการมีส่วนร่วมของแบรนด์ เนื่องจากเป้าหมายของธุรกิจจะเป็นตัวกำหนดว่าจะต้องทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์กับเป้าหมายนั้นได้
2. ศึกษากลุ่มเป้าหมาย: หลังจากรู้แล้วว่ามีเป้าหมายอะไร สิ่งต่อมาที่ต้องรู้คือ กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคือใคร ลองสำรวจและสังเกตกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในด้านต่างๆ เช่น อายุ เพศ อาชีพ ความสนใจ พฤติกรรม และปัญหาเพื่อที่จะได้สร้างกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้
3. ดึงดูดความสนใจด้วยเนื้อหาที่ใช่: เมื่อรู้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในด้านไหนให้ใช้สื่อโฆษณาที่มีเนื้อหาน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความเชื่อมโยงต่อเนื้อหาเหล่านี้ นอกจากการสร้างโฆษณา อาจลองทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรงเพื่อดึงดูดความสนใจให้มากขึ้น
4. กระตุ้นความต้องการอย่างต่อเนื่อง: เน้นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความปรารถนาและความตั้งใจในการดำเนินการต่อ อาจกระตุ้นความต้องการผ่านการยิงโฆษณาให้กลุ่มเป้าหมายเห็นซ้ำๆ อย่าลืมว่าหัวใจหนึ่งของการประสบความสำเร็จคือความต่อเนื่องของการโฆษณา
5. ใช้ Call to Action ที่ชัดเจน: นอกจากคอนเทนต์ที่ใช่ และกระตุ้นความต้องการอย่างต่อเนื่อง อีกสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้คือการมี Call to Action ที่ชัดเจนที่จะช่วยให้ลูกค้ารู้ว่าขั้นตอนต่อไปที่ต้องทำคืออะไร อาจลองปรับเปลี่ยนเว็บไซต์ให้ดูใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือต้องเป็นมิตรเมื่อใช้งานผ่านโทรศัพท์
ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ Aida Model ทั้งหมด แล้วประสบความสำเร็จ
หนึ่งในตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์ AIDA Model แล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ Apple แบรนด์เทคโนโลยี ผู้สร้างสรรค์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, Apple Watch, MacBook และอื่น ๆ โดยที่ Apple ใช้ กลยุทธ์ AIDA Model ได้แก่
- Attention: ดีไซน์เรียบหรูของสินค้าเป็นจุดเด่นที่ชัดเจนของ Apple นอกจากนี้การเปิดตัวสินค้าใหม่มักจะมีความลุ้นระทึก น่าตื่นเต้นและความสนใจจากลูกค้า อีกทั้งยังเน้นความล้ำสมัยที่น่าทึ่งในการเสนอสินค้าของตน ทำให้ผู้บริโภคมีความสนใจและความประทับใจในผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของ Apple อย่างมาก
- Interest: Apple เน้นการเชื่อมต่อกันได้ง่ายในอุปกรณ์แต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Iphone, Ipad หรือ Macbook ก็สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างสะดวก อย่างการ Airdrop เนื่องจาก Apple มุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์การใช้งานที่เป็นมิตรและเข้าใจง่ายให้กับผู้ใช้งาน นอกจากนี้ ยังนำเสนอฟีเจอร์ที่ใช้งานง่ายทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย ซึ่งสร้างความสนใจและความประทับใจให้กับผู้ใช้งาน
- Desire: สินค้าของ Apple ล้วนมีคุณภาพและระดับ “พรีเมียม” โดยเน้นวัสดุและการออกแบบที่ล้ำสมัย ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความหรูหราและพิเศษ ตอบโจทย์กับความต้องการและความพึงพอใจในการใช้งานสินค้า โดยการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงของตนให้เป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์ที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ทำให้ผู้คนอยากเป็นเจ้าของและใช้สินค้าของ Apple อย่างมั่นใจ
- Action: ผู้ใช้งานสามารถดำเนินการซื้อสินค้าและบริการของ Apple ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยมีแหล่งที่เชื่อถือได้เช่น Apple Store ที่มีทั้งในรูปแบบของร้านค้าที่เปิดให้บริการตั้งอยู่ในทุกพื้นที่ และการให้บริการออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้งสองแหล่งนี้เป็นที่ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและทำการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ Apple ได้อย่างสะดวกสบายและง่ายดาย
โมเดลการตลาดพื้นฐาน AIDA ที่นักตลาดควรปรับใช้ ผลักดันยอดขายได้จริง
AIDA Model เปรียบเสมือนตัวช่วยสำคัญของธุรกิจและนักการตลาดที่ต้องการพาธุรกิจไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ การเข้าใจลูกค้าผ่านการใช้โมเดลนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริงและเข้าใจกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่ขั้นแรกยันตัดสินใจซื้อสินค้า ถึงตาคุณแล้วที่จะนำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของคุณ เพื่อพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ