Social Media MarketingSocial ListeningFacebook MarketingInstagram MarketingTikTok Marketing
Try Mandala For Free

Mascot Marketing คือ? ตัวอย่างธุรกิจที่สร้าง Mascot Branding สำเร็จ!

Mascot Marketing คือ? ตัวอย่างธุรกิจที่สร้าง Mascot Branding สำเร็จ!

ท่ามกลางยุคที่แบรนด์ต่างก็แข่งขันกันสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก และการจดจำที่ตราตรึงใจลูกค้า การสรรหากลยุทธ์การตลาดต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจึงเป็นสิ่งที่แบรนด์ต่างก็ให้ความสำคัญกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์สู่สายตาลูกค้าผ่านการใช้ Mascot หรือตัวละครที่สอดคล้องกับแบรนด์

Mascot Marketing คืออะไร?

หมีมาสคอต

Mascot Marketing คือการใช้มาสคอต (Mascot) เป็นส่วนหนึ่งในการโปรโมตสินค้า บริการ หรือแบรนด์ โดยปกติมาสคอตมักจะเป็นตัวละครที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งช่วยสร้างการจดจำ สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการโฆษณา กิจกรรมพิเศษ และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

Mascot สร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ได้อย่างไร?

การนำกลยุทธ์มาสคอตมาใช้ในการทำการตลาดของแบรนด์ สามารถช่วยสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ได้หลากหลายรูปแบบ เนื่องจากการที่แบรนด์ออกแบบมาสคอตมาให้สอดคล้องกับคุณค่าและเป้าหมายที่แบรนด์ยึดมั่นสามารถช่วยดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย ช่วยให้แบรนด์โดดเด่นเหนือคู่แข่ง อีกทั้งยังสามารถสร้างการจดจำที่มากขึ้นให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยมาสคอตที่สื่อถึงค่านิยม บุคลิก และเอกลักษณ์ของแบรนด์สามารถช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจแบรนด์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมาสคอตที่มีชื่อเสียงยังสามารถนำมาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้อีกด้วย

อยากทำ Mascot Branding ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

การสร้างมาสคอตมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้มาสคอตสร้างมูลค่าและประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา ได้แก่

  • Storytelling: การสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจให้กับมาสคอต เช่น ที่มา บุคลิก และบทบาทของมาสคอตในแบรนด์ จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อมโยงและผูกพันกับมาสคอตมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องสื่อสารเรื่องราวของมาสคอตอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอผ่านทุกช่องทางการตลาด 
  • สอดคล้องกับแบรนด์: มาสคอตควรมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและจำได้ง่าย การใช้สี รูปแบบ และการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์จะช่วยเสริมสร้างการจดจำ ควรสร้างรูปแบบและบุคลิกของมาสคอตที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์และคุณค่าของแบรนด์ เพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับแบรนด์ให้กับลูกค้า
  • เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย: ควรออกแบบมาสคอตให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นวัย เพศ หรือความสนใจ เพื่อให้สามารถสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรทำการทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายและเก็บความคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงให้มาสคอตเหมาะสมกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
  • ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ: มาสคอตที่ดีควรนำมาใช้ได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น โฆษณาทีวี โฆษณาออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และกิจกรรมพิเศษ ในขั้นตอนนี้อาจต้องอาศัยการประสานงานกับทีมการตลาด เพื่อให้มาสคอตมีบทบาทในทุกแคมเปญและกิจกรรมการตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสในการจดจำที่มากขึ้น
  • ลิขสิทธิ์:  หลายคนอาจมองข้ามเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ปัจจุบันการตรวจสอบว่ามาสคอตของเราซ้ำกับแบรนด์อื่น ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศไหม เป็นสิ่งที่แบรนด์ควรตระหนักถึง ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามาสคอตไม่ได้ติดลิขสิทธิ์ก็ควรจดทะเบียนลิขสิทธิ์มาสคอต เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบในอนาคต
  • การมีส่วนร่วมของลูกค้า: การเชื่อมโยงกับลูกค้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มาสคอตเป็นที่จดจำและกลายเป็นไวรัลในอนาคต แบรนด์ควรเริ่มสร้างกิจกรรมหรือแคมเปญที่เปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับมาสคอตมากขึ้น เช่น การแข่งขันหรือการประกวดต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วม
  • พร้อมที่จะพัฒนา: การปรับปรุงและพัฒนาผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าเป็นสิ่งที่แบรนด์จะต้องให้ความสำคัญมาก ๆ เนื่องจากความเห็นของลูกค้าที่มีประโยชน์สามารถนำมาพัฒนาและปรับปรุงให้มาสคอตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ โดยแบรนด์ควรหมั่นพัฒนามาสคอตให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันอยู่เสมอ

แกะสูตรความสำเร็จของ Mascot Branding

1. น้องหมีเนย Butterbear

น้องหมีเนย เป็นมาสคอตตัวดังจาก Butterbear แบรนด์ขนมหวานสัญชาติไทย ก่อตั้งโดยคุณบูม ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ ลูกสาวของคุณดาว ณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์ เจ้าของร้านอาหาร ‘Coffee Beans By Dao’ ร้านอาหารและเค้กชื่อดังที่มีมาแล้วกว่า 24 ปี โดยขนมของ Butterbear ประกอบไปด้วยโดนัท คุกกี้ และเค้กรสชาติต่าง ๆ 

สิ่งที่ทำให้ Butterbear ประสบความสำเร็จได้ก็คือกลยุทธ์การใช้มาสคอต น้องหมีเนย น้องหมีสีน้ำตาลที่มีรูปลักษณ์น่ารัก สดใส ที่มักจะสวมชุดที่เป็นเอกลักษณ์อย่างผ้ากันเปื้อนทำขนม รวมถึงการสวมชุดที่เหมาะกับเทศกาลต่างๆ เช่น ชุดไทยต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ และชุดกี้เพ้าต้อนรับเทศกาลตรุษจีน โดยรูปลักษณ์ของน้องหมีเนยสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นหญิงสาวกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี จนแฟน ๆ ชาวต่างประเทศต่างก็พากันบินมาถึงประเทศไทยเพื่อที่จะมารอเจอน้องหมีเนย

จุดเด่นของน้องหมีเนยนอกจากจะมีรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังมีเรื่องราวที่มาที่ไปที่น่าสนใจ มีบุคลิก และเป้าหมายที่ชัดเจน หมั่นสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลาย ทั้งมีม วิดีโอ บทความ ดึงดูดให้ผู้คนติดตาม ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งการจัดกิจกรรม แจกของรางวัล กระตุ้นให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มาสคอตน้องหมีเนยช่วยดึงดูดลูกค้าใหม่ กระตุ้นยอดขาย จน Butterbear กลายเป็นที่รู้จักและโด่งดัง จนสามารถคว้ารางวัล “สุดยอดร้านสร้างสรรค์คอนเทนต์แห่งปี” จากเวที Grab Thumbs Up Awards 2024 ได้


2. พี่ก้อน Bar B Q Plaza

สำหรับสายปิ้งย่าง หมูกระทะ ร้านที่อยู่ในใจของทุกคนแน่นอนว่าต้องเป็น Bar B Q Plaza ที่มีเอกลักษณ์ตรงกระทะสีทอง และ “พี่ก้อน” มาสคอตมังกรสีเขียว ที่อยู่คู่คนไทยมากกว่า 30 ปี Bar B Q Plaza ก่อตั้งโดยคุณชูพงศ์ ชูพจน์เจริญ ในปีพ.ศ. 2539 เนื่องจากคุณชูพงศ์เป็นคนไทยเชื้อสายจีนจึงความเชื่อว่า ‘มังกร’ เป็นสัญลักษณ์ที่ดี เลยเลือกมังกรมาเป็นตัวแทนของแบรนด์ ส่วนชื่อบาร์บีก้อน ก็มาจากคำว่า Bar B Q Plaza ผสมกับคำว่า Dragon โดยพี่ก้อนเป็นมังกรสีเขียวมีพุง สื่อถึงความอิ่มสมบูรณ์ สวม ‘มงกุฎ’ สื่อถึงเจ้าแห่งการปิ้งย่าง ‘ผ้าพันคอ’ สื่อถึงการพร้อมเสิร์ฟ พร้อมรับประทาน

สิ่งที่ทำให้พี่ก้อนกลายเป็นภาพจำและตัวแทนของ Bar B Q Plaza คือการออกแบบที่โดดเด่นและจดจำง่าย เนื่องจากพี่ก้อนเป็นตัวมาสคอตที่มีลักษณะคล้ายกับมังกร สีเขียวสดใสและมีรูปร่างกลม ๆ น่ารัก ทำให้พี่ก้อนเป็นที่จดจำได้ง่าย การออกแบบที่โดดเด่นและน่าจดจำนี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ ทำให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันและมีความทรงจำดี ๆ กับแบรนด์นี้ 

พี่ก้อนไม่ได้เป็นเพียงแค่มาสคอตที่น่ารัก แต่ยังมีบุคลิกภาพและเรื่องราวที่ชัดเจน มีลักษณะที่เป็นกันเอง ใจดี และมีอารมณ์ขัน ซึ่งช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้พี่ก้อนกลายเป็นหนึ่งในมาสคอตที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย ช่วยสร้างการจดจำ กระตุ้นการซื้อ ขยายฐานลูกค้า และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ Bar B Q Plaza กลายเป็นหนึ่งในร้านอาหารปิ้งย่างที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย


3. น้องมั่งมี Krungsri 

น้องมั่งมีของ Krungsri เป็นมาสคอตที่มีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของธนาคารอย่างชัดเจน มาสคอตตัวนี้มีลักษณะเป็นช้างที่สื่อถึงความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง ด้วยการออกแบบที่ทันสมัยและมีสีสันสดใส น้องมั่งสามารถดึงดูดความสนใจและจดจำได้ง่าย ทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกที่ดีและมีความเชื่อมั่นในบริการของธนาคาร Krungsri การเลือกใช้ช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความหมายดีในวัฒนธรรมไทยยังช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้าอีกด้วย

น้องมั่งมีไม่ใช่เพียงแค่มาสคอตที่ดูน่ารัก แต่ยังถูกออกแบบให้มีลักษณะใจดี เป็นมิตร และช่วยให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายเมื่อต้องติดต่อกับธนาคาร การสร้างบุคลิกภาพที่เป็นมิตรนี้ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกว่า Krungsri ไม่ใช่แค่ธนาคารที่ให้บริการทางการเงิน แต่เป็นเพื่อนที่พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเสมอ ความเป็นกันเองนี้ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจระหว่างลูกค้ากับธนาคาร Krungsri ได้ใช้น้องมั่งมีในการทำกิจกรรมและสื่อการตลาดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวในโฆษณาทางโทรทัศน์ การใช้ในสื่อออนไลน์ หรือการจัดกิจกรรมในงานต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและสร้างความผูกพันกับลูกค้า 

การออกแบบน้องมั่งมีให้เป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง และความโชคดีช่วยให้ธนาคารกรุงศรีสามารถสร้างการเชื่อมโยงกับแบรนด์ที่แข็งแกร่ง กระตุ้นภาพลักษณ์เชิงบวก ดึงดูดลูกค้า และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ‘น้องมั่งมี’ จึงกลายเป็นตัวแทนของแบรนด์ที่ทรงพลัง ช่วยให้ธนาคารกรุงศรีบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว


ข้อดี vs. ข้อเสีย ของการทำ Mascot Marketing

ข้อดีของการทำ Mascot Marketing

  • สร้างความจดจำ: การมีมาสคอตที่น่ารักหรือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นช่วยสร้างความจดจำและความรู้สึกที่ดีในใจลูกค้าได้ง่ายขึ้น นักการตลาดสามารถใช้มาสคอตเพื่อสร้างความรู้สึกและความเชื่อมั่นในแบรนด์ได้มากขึ้น
  • สร้างความเชื่อมั่นและสัมพันธ์: การใช้มาสคอตที่เป็นมิตรและเป็นกันเองช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เช่น การมีมาสคอตที่ให้คำปรึกษาหรือสนับสนุนลูกค้าในการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัท
  • กระตุ้นการมีส่วนร่วม: มาสคอตสามารถใช้ในกิจกรรมทางการตลาด กระตุ้นให้ลูกค้ามีส่วนร่วม แชร์ และพูดถึงแบรนด์มากยิ่งขึ้น
  • ขยายฐานลูกค้า: การทำการตลาดโดยใช้มาสคอตสามารถดึงดูดลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และครอบครัวให้หันมาสนใจแบรนด์มากยิ่งขึ้น

ข้อเสียของการทำ Mascot Marketing

  • เสี่ยงต่อการเข้าใจผิด: บางครั้งมาสคอตอาจถูกตีความผิดความหมาย ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่เข้าใจว่าแบรนด์ต้องการสื่ออะไร นักการตลาดจึงต้องคำนึงถึงความสอดคล้องของมาสคอตกับภาพลักษณ์และข้อความทางการตลาด
  • ค่าใช้จ่ายสูง: การออกแบบและผลิตมาสคอตที่มีคุณภาพสูงอาจต้องใช้งบประมาณสูง ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับธุรกิจที่มีขนาดเล็กหรือคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ
  • เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แค่บางกลุ่ม: มาสคอตบางตัวอาจดึงดูดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้แบรนด์ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครบทุกกลุ่มหากใช้มาสคอตที่ไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ 
  • พัฒนามาสคอตอยู่เสมอ: การรักษามาสคอตให้คงความสดใหม่ น่าสนใจ และมีส่วนร่วม อาจต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง

วางกลยุทธ์ Mascot ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจ

Mascot Marketing เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้แบรนด์สร้างการจดจำที่ดีขึ้น สื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถพลิกธุรกิจด้วยมาสคอตได้คือความเป็นเอกลักษณ์และความโดดเด่นของมาสคอต ควรสร้างมาสคอตให้สอดคล้องกับคุณค่าและเป้าหมายที่แบรนด์ให้ความสำคัญ รวมถึงออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ อย่างไรก็ตามแบรนด์ควรพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใช้กลยุทธ์นี้

ทดลองฟรี mandala
  • หมวดหมู่ :
สมัครสมาชิกเนื้อหาการตลาดฟรีของเรา

เราจะส่ง Email เนื้อหาใหม่ให้คุณทุกสัปดาห์

This email is already subscribe.