ความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทโมเดลธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่คนเริ่มต้นทำธุรกิจทุกคนควรรู้ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างโมเดลธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) B2C (Business to Consumer) และ B2B2C (Business to Business to Customer) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด การดำเนินธุรกิจขององค์กร การนำเสนอสินค้าและบริการ ฯลฯ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักและความแตกต่างระหว่างโมเดลธุรกิจ ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมานี้ เพื่อการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับตลาดและกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง
ธุรกิจ B2B คืออะไร
B2B ย่อมาจาก Business to Business คือ โมเดลการทำธุรกิจระหว่างองค์กรกับองค์กร ซึ่งการขายแบบ B2B เป็นการขายสินค้าหรือบริการให้กับกลุ่มผู้ลงทุนธุรกิจด้วยกันเอง โดยรายได้จะมาจากองค์กร หน่วยงาน หรือบริษัทว่าจ้าง เช่น ผู้รับจ้างผลิตสินค้า ผู้ผลิตหรือจัดหาวัตถุดิบ ผู้ให้บริการด้านระบบ E-Commerce ผู้ให้บริการพื้นที่จัดเก็บสินค้า เอเจนซี่ให้บริการด้านการตลาดและโฆษณา เป็นต้น
ซึ่งการทำธุรกิจแบบ B2B นับว่ามีความสำคัญมากต่อการเติบโตและความสำเร็จขององค์กร หน่วยงาน หรือบริษัทหลาย ๆ แห่ง เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า ดังนั้นผู้ที่ทำธุรกิจ B2B Marketing นอกจากจะต้องวิเคราะห์ SWOT, 4Ps ของตนเองแล้ว ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าที่เป็นองค์กรด้วยกันเองด้วย เพราะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในการทำงานร่วมกันระยะยาว
ธุรกิจ B2B ในไทยมีอะไรบ้าง?
ยกตัวอย่างธุรกิจ B2B ในไทย เช่น
1. บริษัท โอเชี่ยน สกาย เน็ตเวิร์ค จำกัด ผู้ให้บริการด้านวิเคราะห์ข้อมูลทางตลาดออนไลน์
2. บริษัท รีโว่เมด (ไทยแลนด์) จำกัด โรงงานรับผลิตเครื่องสำอาง สินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม และอาหารเสริม
3. บริษัท ทิพย์โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ให้บริการโรงงานให้เช่า คลังสินค้าให้เช่า ศูนย์กระจายสินค้ารายใหญ่
ธุรกิจ B2C คืออะไร
B2C หรือที่ย่อมาจาก Business to Customer คือ โมเดลการทำธุรกิจระหว่างผู้ค้า/ผู้ประกอบการ/เจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ กับกลุ่มลูกค้าหรือผู้บริโภคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ ยกตัวอย่างธุรกิจเช่น การเปิดร้านขายอาหาร เปิดร้านทำผม ร้านต่อขนตา อู่ซ่อมรถ การขายเสื้อผ้า อาหารเสริมผ่านออนไลน์ ธุรกิจโรงแรม ทัวร์ คลินิกความงาม เป็นต้น
ซึ่งการทำธุรกิจประเภท B2C จำเป็นจะต้องสร้างความพึงพอใจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างมากที่สุด เพื่อให้ลูกค้าเกิด Customer Loyalty คือ ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ผ่านการซื้อซ้ำ การมีส่วนร่วมกับแบรนด์ เชื่อมั่น ไว้วางจน ตลอดจนแนะนำให้ผู้อื่นมาใช้บริการหรือซื้อสินค้าตามด้วย ดังนั้นผู้ที่ทำธุรกิจแบบ B2C ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำการศึกษาตลาดเสมอ รวมถึงวิเคราะห์ SWOT เพื่อให้รู้ว่าจุดแข็ง จุดอ่อน อุปสรรคในการทำธุรกิจ และโอกาสในการพัฒนาธุรกิจของตนเองว่ามีอะไรบ้าง นำไปสู่การสร้างผลกำไรและการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
ธุรกิจ B2C ในไทยมีอะไรบ้าง?
ยกตัวอย่างธุรกิจ B2C ในไทย เช่น
1. ร้าน After You Dessert Café ร้านคาเฟ่ขนมหวานที่มีเจ้าของเป็นคนไทย มีหลายสาขาในประเทศ และได้ขยายสาขาไปยังต่างประเทศด้วย
2. VATANIKA แบรนด์แฟชันของคุณแพร วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ที่เหล่าเซเลบริตี้และคนดังระดับฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็น Taylor Swift, Ariana Grande, Jennifer Lopez ต่างก็เคยสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์นี้
3. โฮเทลยาหยี บูทีคโฮเทลในย่านนิมมานเหมินทร์ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าของคือคุณอนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม นักแสดงชื่อดังของไทย
ธุรกิจ B2B2C คืออะไร
B2B2C ย่อมาจากคำว่า Business to Business to Customer เป็นโมเดลธุรกิจที่เปรียบเสมือนตัวกลาง ให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจได้เจอกับผู้บริโภค เป็นตัวกลางให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้มาเจอกัน ในแง่ของผู้ประกอบการหรือผู้ค้าก็จะได้เพิ่มความสามารถในการขายสินค้าและบริการได้มากยิ่งขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนผู้บริโภคก็จะได้รับความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการนั่นเอง ซึ่งเป็นการรวมเอาจุดเด่นของ B2B และ B2C เข้าไว้ด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada, Amazon แพลตฟอร์มที่รวมแบรนด์ธุรกิจต่าง ๆ ไว้มากมายให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าและบริการ
ธุรกิจ B2B2C ในไทยมีอะไรบ้าง
ยกตัวอย่างธุรกิจ B2B2C ในไทย เช่น
1. บริษัท MyCloudFulfillment ที่ดำเนินธุรกิจด้านคลังสินค้าออนไลน์ครบวงจร มีทั้งระบบจัดการออเดอร์ (OMS) ระบบจัดการคลังสินค้า (WMS)
2. บริษัท เดอะ คอนเสิร์ต แอปพลิเคชัน จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านระบบปฏิบัติการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ชื่อว่า “The Concert Application” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันตัวกลางระหว่างผู้ประกอบธุรกิจผับ บาร์ ผู้จัดคอนเสิร์ต กับกลุ่มลูกค้าให้ได้มาเจอกัน
3. บริษัท อีททิโก (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจให้บริการจองโต๊ะอาหารพร้อมโปรโมชันพิเศษจากร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ผ่านแอพพลิเคชัน Eatigo ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจอกันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และผู้บริโภค
ธุรกิจ B2B แตกต่างกับ B2C และ B2B2C อย่างไร
1. กลุ่มเป้าหมาย
- B2B กลุ่มลูกค้า คือ องค์กร หน่วยงาน บริษัท
- B2C กลุ่มลูกค้า คือ ผู้บริโภคทั่วไป รายบุคคล
- B2B2C กลุ่มลูกค้า คือ องค์กร หน่วยงาน บริษัท และผู้บริโภคทั่วไป
2. การสื่อสาร
- B2B เน้นการสื่อสารไปยังบุคคลระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร เจ้าของบริษัท ที่มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมธุรกิจ
- B2C เน้นการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป ทั้งกลุ่มเป้าหมายหลัก กลุ่มเป้าหมายรอง และทางอ้อมด้วย
- B2B2C เน้นการสื่อสารไปทั้งองค์กร หน่วยงาน บริษัท และผู้บริโภคทั่วไป
3. เทคนิคการทำการตลาด
- B2B สำหรับเทคนิคการทำ B2B Marketing จะเน้นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ การเป็นตัวจริง เป็นผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ เพื่อให้เจ้าของธุรกิจหรือคู่ค้าเซ็นสัญญาระยะยาวหรือต่อสัญญาเรื่อย ๆ
- B2C ใช้เทคนิคการทำการตลาดด้วยการพูดถึงจุดเด่นของสินค้าและบริการ โปรโมชัน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
- B2B2C เนื่องจากเป็นตัวกลางในการทำธุรกิจระหว่างเจ้าของธุรกิจกับผู้บริโภค ดังนั้นต้องใช้เทคนิคการทำการตลาดด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง เพื่อดึงดูดให้เจ้าของธุรกิจไว้ใจ เชื่อใจ เข้ามาใช้บริการ เช่น ขั้นตอนการทำงานภายในที่เป็นระบบ ติดต่อได้ง่าย คลังเก็บสินค้าที่ปลอดภัย ความเสถียรของระบบการสั่งซื้อ ความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลส่วนตัวลูกค้า หน้าตาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า การส่งมอบประสบการณ์ดี ๆ ไปยังผู้บริโภคปลายทาง เป็นต้น
ตัวอย่างการทำการตลาดของธุรกิจ Business to Business
อย่างที่บอกไปว่ากลุ่มลูกค้าของ B2B คือ องค์กร หน่วยงาน หรือบริษัทต่าง ๆ ดังนั้นจะต้องทำการตลาดโดยเน้นการสื่อสารไปยังบุคคลระดับผู้จัดการ ผู้บริหาร เจ้าของบริษัท ที่มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมธุรกิจ ซึ่งการทำการตลาดของธุรกิจ B2B ที่นิยมกัน เช่น
1. การทำ SEO
การทำ SEO Content หรือผลิตคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาคุณภาพ พร้อมกับใส่คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจลงไปในเว็บไซต์หน้าหลักของเรา รวมไปถึงการทำ Backlink จะทำให้กลุ่มลูกค้าของเราค้นเจอเราบนเว็บไซต์ผ่านคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ที่เรากำหนดลงไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มลูกค้ารายใหม่ และเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของธุรกิจได้ด้วย
2. ใช้สื่อ Social Media
การใช้สื่อ Social Media ในการทำ Social Media Marketing, Branding Content การแชร์ความสำเร็จของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ หรือการทำ Content Marketing ที่มีคุณภาพ เช่น การให้ความรู้ทางการตลาด นอกจากจะช่วยสร้างการรับรู้ ภาพลักษณ์ที่ดี และความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้แล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มฐานลูกค้าและรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างคู่ค้าได้ด้วย
3. การทำ E-Mail Marketing
ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมลประชาสัมพันธ์ การส่งอีเมลเพื่อการโฆษณาสินค้าและบริการใหม่ ๆ การมอบโปรโมชันพิเศษ ฯลฯ มีส่วนช่วยเพิ่มลูกค้ารายใหม่ รวมถึงการใช้บริการซ้ำได้
สรุปคำนิยามของธุรกิจแบบ B2B B2C และ B2B2C
B2B | B2C | B2B2C | |
ย่อมาจาก | Business to Business | Business to Customer | Business to Business to Customer |
รูปแบบธุรกิจ | การทำธุรกิจระหว่างองค์กรกับองค์กร | การทำธุรกิจระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภคทั่วไป | ตัวกลางให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจได้เจอกับผู้บริโภค |
กลุ่มเป้าหมาย | องค์กร หน่วยงาน บริษัท | ผู้บริโภคทั่วไป รายบุคคล | องค์กร หน่วยงาน บริษัท และผู้บริโภคทั่วไป |
การสื่อสาร | เน้นการสื่อสารไปยังบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมธุรกิจ | เน้นการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป | เน้นการสื่อสารไปทั้งองค์กร หน่วยงาน บริษัท และผู้บริโภคทั่วไป |
การตลาด | เน้นการสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อรักษาการต่อสัญญาระยะยาว | จุดเด่นของสินค้าและบริการ โปรโมชัน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว | สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ดี ๆ ไปยังผู้บริโภคปลายทาง |
โมเดลการทำธุรกิจแบบ B2B, B2C และ B2B2C นั้นมีวิธีการและแนวคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งการเลือกใช้โมเดลก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้บริการ โดยเจ้าของธุรกิจทุกคนต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างโมเดลธุรกิจเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถสามารถวางแผนและดำเนินธุรกิจไปในทิศทางที่เหมาะสมกับเป้าหมายของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ