ต้องยอมรับว่า Line OA คือ อีกหนึ่งเครื่องมือและช่องทางทำการตลาดออนไลน์ในไทยที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าและเจ้าของแบรนด์ในระดับ SME เพราะปัจจุบันคนไทยต่างใช้งานแอปพลิเคชัน Line ในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน Line OA จึงมีส่วนช่วยในการเจ้าของธุรกิจในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ สร้างปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนปิดการขายได้ง่ายและรวดเร็ว
การประยุกต์ใช้ Line OA เข้ากับธุรกิจของตนจึงเป็นเรื่องที่เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดไม่ควรมองข้าม
Line OA คือ สำคัญกับธุรกิจในประเทศไทยอย่างไร
Line OA หรือ Line Official Account คือ บัญชี Line ที่ได้รับการออกแบบรองรับการใช้งานของกลุ่มแบรนด์และองค์กร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า ฟีเจอร์ของ Line OA ครอบคลุมตั้งแต่ส่งข่าวสารของแบรนด์ กระจายข้อมูลสำคัญ ทำกิจกรรมทางการตลาด ประกาศโปรโมชันสินค้าและบริการ รวมทั้งส่งต่อคอนเทนต์อื่น ๆ ได้โดยตรง
จุดเด่นของ Line OA คือ มาพร้อมฟีเจอร์ที่ช่วยให้เจ้าของแบรนด์และนักการตลาดจัดการและให้บริการแก่ลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ยังใช้เป็นช่องทางการสร้างและส่งต่อกิจกรรมทางการตลาดและโฆษณาอื่น ๆ อันนำไปสู่การเพิ่มยอดขายได้
วิธีการสมัคร Line OA
ก่อนไปทำความรู้จักและเริ่มใช้งาน Line OA นั้น แบรนด์และนักการตลาดจำเป็นต้องสมัครเปิดบัญชีดังกล่าว โดยทำได้ง่าย ๆ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ไปยังหน้า LINE Business ID page แล้วเลือกสร้างบัญชี
- ไปยังแถบเมนูด้านขวามือ จะมีตัวเลือกปรากฏ 2 ตัวเลือก ได้แก่
- ตัวเลือกสำหรับผู้ที่มีบัญชี Line อยู่แล้ว ให้เลือกสมัครด้วยบัญชี Line จากนั้นจะไปยังหน้าเข้าสู่ระบบด้วย Line Official Account Manager
- ตัวเลือกสำหรับผู้ที่ยังไม่มีบัญชี Line ให้เลือกสมัครด้วยอีเมล เพื่อกรอกข้อมูลอีเมลสำหรับรับลิงก์ Sign up จากนั้นให้กดลิงก์สร้างบัญชีแล้วเข้าสู่ระบบ Line Official Account Manager
- เมื่อเลือกสร้างบัญชี Line OA แล้ว ให้เข้าสู่ระบบบัญชีดังกล่าว จากนั้นกรอกรายละเอียดที่จำเป็นของแบรนด์ให้ครบถ้วน
- เลือก “ต่อไป” จากนั้นตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดก่อนกดส่งข้อมูล
- เลือก “ไปยัง Line Official Account Manager” เพื่อเริ่มใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ กันได้เลย
ฟีเจอร์หลัก ๆ ของ Line OA
ลองมาดูฟีเจอร์หลักบางส่วนของ Line OA กันว่ามีอะไรบ้าง แล้วแต่ละแบบมีการใช้งานและส่วนช่วยต่อแบรนด์อย่างไร
1. Greeting Message
Greeting Message คือ ข้อความแรกที่ส่งถึงกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของแบรนด์ เหมือนข้อความทักทายครั้งแรกเมื่อลูกค้ากดเพิ่มเพื่อน ทั้งนี้ ลูกค้าอาจสนใจหรือต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการเพิ่มเติม Greeting Message จึงถือเป็นวิธีเริ่มต้นบทสนทนาที่ให้ข้อมูลสำคัญของแบรนด์ที่ลูกค้าต้องการได้
วิธีสร้าง Greeting Message ควรตั้งต้นจากการส่งข้อความที่ทำให้เกิดบทสนทนา นั่นก็คือ กล่าวถึงชื่อของลูกค้าเมื่อทักทายด้วยข้อความแรก สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่สะท้อนตัวตนแบรนด์ โดยอาจให้รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่คาดว่าลูกค้าต้องทราบ แล้วปิดท้ายด้วยราคา โปรโมชัน หรือสิทธิพิเศษอื่นสำหรับการซื้อหรือใช้บริการครั้งแรก เพื่อสร้างความประทับใจ นอกจากนี้การใส่ภาพประกอบก็มีส่วนช่วยให้ Greeting Message น่าสนใจขึ้น
2. Rich Message
Rich Message คือ ข้อความที่มีลักษณะน่าสนใจกล่าข้อความทั่วไป มักมาพร้อมภาพเต็มหน้าจอ โดยทั่วไปแล้ว อาจตั้งค่า Action หรือฝังลิงก์ลงไปได้มากถึง 6 ลิงก์ เมื่อลูกค้าคลิกลิงก์แล้ว ก็จะพาไปยังหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ทันที วิธีนี้ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย อันนำไปสู่การปิดยอดขายได้มากขึ้น
3. Card message
Card message คือ ข้อความประเภทการ์ดที่เหมาะแก่การส่งต่อหรือนำเสนอสินค้าและบริการของแบรนด์หลายตัวในเวลาเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยภาพหลาย ๆ ภาพ แสดงผลแบบสไลด์ และปุ่ม CTA เมื่อลูกค้ากดเข้าไป ก็จะพาไปยังหน้าเว็บไซต์ คูปองสินค้าและบริการ หรือ Reward Cards ขึ้นอยู่กับจะตั้งค่าอย่างไร
4. Rich Menu
Rich Menu คือ รูปแบบคอนเทนต์ประเภทเน้นภาพขนาดใหญ่เป็นหลัก มักปรากฏตรงด้านล่างสุดของหน้าแชท เมื่อผู้ใช้งานกดเข้ามาในหน้าแชทจะต้องเลื่อนลงมาจนสุดถึงจะเห็น Rich Menu โดยแบรนด์สามารถใส่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแบรนด์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับคำถามที่พบบ่อยได้ เช่น แคตตาล็อกสินค้า หมายเลขโทรศัพท์ของร้าน ชั่วโมงทำการ เป็นต้น ที่สำคัญ ยังฝังลิงก์ต่าง ๆ ใน Rich Menu ได้มากถึง 6 ลิงก์ ข้อดีคือ ช่วยให้ลูกค้าได้คำตอบของสิ่งที่อาจต้องการคำตอบได้ทันที ซึ่งช่วยประหยัดเวลาทั้งฝั่งกลุ่มเป้าหมายและแอดมินไปในตัว
5. Timeline
Timeline คือ คอนเทนต์ประเภทโพสต์บนหน้าฟีดส์ของ Line ฟังก์ชันของฟีเจอร์นี้จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายและลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างการรับรูปแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เพิ่งเพิ่มเพื่อนกับบัญชีของแบรนด์ด้วย
6. Rich Video
Rich Video คือ รูปแบบคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ โดยคอนเทนต์ประเภทนี้จะเล่นคลิปวิดีโออัตโนมัติเต็มหน้าจอเมื่อผู้ใช้งานเปิดอ่านแชท นอกจาก Copy text ที่ดึงดูดใจแล้ว ยังมาพร้อมปุ่ม CTA ที่เพิ่มเข้าไปในตัวคอนเทนต์ได้อีกด้วย ขนาดวิดีโอรองรับทั้งแบบภาพ Portrait, Landscape และ Square ช่วยให้การนำเสนอคอนเทนต์ของแบรนด์ดูมีลูกเล่นและน่าสนใจมากกว่าเดิม
7. Auto Response Message
Auto Response Message คือ ฟีเจอร์สื่อสารตอบแชทแบบอัตโนมัติ มักใช้ในกรณีที่แอดมินไม่สะดวกตอบเองโดยตรง เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นผู้ช่วยตอบแชทของแอดมินนั่นเอง โดยระบบจะตอบกลับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าที่ทักแชทเข้ามาทันที ข้อดีคือ ช่วยลดภาระงานในช่วงที่แอดมินไม่ได้อยู่ทำการ รวมทั้งมีโอกาสเพิ่มยอดขายได้ง่ายและเร็วภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับข้อความจากลูกค้า
8. 1:1 Chat
1:1 Chat คือ การสื่อสารแชทกับลูกค้าโดยตรง ช่วยให้แบรนด์มีโอกาสได้เข้าถึงและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เหมาะแก่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมทั้งพูดคุยรายละเอียดของรายการสั่งซื้อต่าง ๆ ข้อดีคือ ฟีเจอร์นี้ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ได้โดยตรงและรวดเร็ว ทำให้ได้รับความสะดวกในการบริการและเกิดความประทับใจต่อแบรนด์มากขึ้น
9. Coupon
Coupon อีกหนึ่งกลยุทธ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้กลับมาซื้อสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอคูปองลดราคาสินค้าหรือซื้อของในราคาพิเศษให้แก่ลูกค้าใหม่ หรือใช้เป็นกิจกรรมทางการตลาด เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่กลุ่มลูกค้าเดิม โดย Coupon ถือเป็นทางเลือกช่วยกระตุ้นยอดขายของแบรนด์ที่น่าสนใจทางหนึ่ง
10. Reward Card
Reward Card ถือเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ที่ดีอย่างหนึ่ง โดย Reward Cards จะเป็นการสะสมแต้มจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการแต่ละรอบ เมื่อครบจำนวนตามกำหนดแล้วก็จะได้รับรางวัลหรือของสมนาคุณตามที่แบรนด์ตั้งไว้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีแรงจูงใจที่จะกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำมากขึ้น
ธุรกิจไหนเหมาะกับ Line OA พร้อมตัวอย่าง
ลองมาดูกันว่า ธุรกิจแบบไหนบ้างเหมาะกับการทำ Line OA
1. ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ถือเป็นกลุ่มธุรกิจอันดับต้น ๆ ที่เหมาะแก่การใช้ Line OA สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้า เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นบุคคลทั่วไปหรือแบบ B2C ธรรมชาติการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจึงควรเลือกใช้ช่องทางที่เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว นอกจากบริการติดต่อสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดทั่วไปของสินค้าแล้วนั้น Line OA ยังเอื้อประโยชน์ในการให้บริการด้านอื่นแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริการสั่งซื้อและเดลิเวอรี่อาหารและเครื่องดื่มแบบรวดเร็ว หรือสั่งจองสินค้าแบบออนไลน์
ทั้งนี้ Line OA ยังมีฟีเจอร์ที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมทางการตลาดที่รองรับกลุ่มลูกค้าของธุรกิจแนวนี้ที่หลากหลาย เช่น Coupon สำหรับทำโปรโมชัน Rich Message สำหรับโปรโมตคอนเทนต์รายการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เป็นต้น
ตัวอย่างธุรกิจ: ร้านอาหาร, ร้านขนม, คาเฟ่, ร้านกาแฟ เป็นต้น
2. ธุรกิจจำหน่ายและกระจายสินค้า หนึ่งในช่องทางสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ของแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในไทยนั้น คงหนีไม่พ้น Line เมื่อแบรนด์เปิดบัญชีทางการเป็นแบบ Line OA ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ความแตกต่างจากแพลตฟอร์ม E-commerce ที่ทำให้การขายของออนไลน์บน Line OA น่าสนใจก็คือ กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาสามารถสอบถามรายละเอียดได้โดยตรง ถือเป็นโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยังอยู่ในขั้นพิจารณาซื้อสินค้านั้น ๆ ได้
ตัวอย่างธุรกิจ: แบรนด์ที่มีหน้าร้านจริง, ร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลีก-ส่ง, แบรนด์ที่มีไลน์สินค้าหลายแบบ เป็นต้น
3. ธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพ–ความงาม ความท้าทายของกลุ่มธุรกิจประเภทนี้คือ ข้อมูลบริการสุขภาพที่ค่อนข้างละเอียด การเปิดช่องทาง Line OA ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายติดต่อสอบถามได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบแพ็กเกจที่มีเนื้อหาค่อนข้างเยอะ หรือแม้แต่การคุยสอบถามกับแอดมินที่ดูแลบัญชีแบรนด์โดยตรง เพื่อสร้างประสบการณ์สนทนาแบบใกล้ชิด ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกมั่นใจและมีแนวโน้มตัดสินใจใช้บริการของแบรนด์มากขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจ: สถานพยาบาล, คลินิกกายภาพ, คลินิกเสริมความงาม, ผู้ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการและการกีฬา เป็นต้น
4. ธุรกิจท่องเที่ยวและที่พัก นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาสอบถามรายละเอียดที่พักหรือทริปท่องเที่ยวแล้วนั้น สิ่งสำคัญของการทำ Line OA ของธุรกิจกลุ่มนี้ ก็คือ บริการตรวจสอบและจองช่วงเวลาที่ต้องการเดินทางหรือเข้าใช้บริการได้สะดวก ที่สำคัญ แบรนด์ก็เพิ่มโอกาสปิดยอดขายได้ง่ายขึ้น ผ่านการทำโปรโมชันในฟีเจอร์ Coupon ได้ด้วย
ตัวอย่างธุรกิจ: โรงแรม, บ้านพัก, บริษัทจัดทริปท่องเที่ยว, บริการขนส่งเดินทางจองตั๋วต่าง ๆ เป็นต้น
5. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มธุรกิจนี้มักนำมาใช้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าที่เป็นลูกบ้านในโครงการอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารระดับกลุ่มบุคคลขนาดใหญ่ และสื่อสารระหว่างตัวบุคคลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสำคัญจากทางโครงการนั้น ๆ ให้ลูกบ้านรับทราบและปฏิบัติตาม รวมทั้งสอบถามเรื่องอื่น ๆ ซึ่งตั้งค่าระบบตอบกลับข้อความอัตโนมัติได้ง่ายและเร็วในเวลาจำกัด เพื่อลดภาระงานซ้ำซ้อน
ตัวอย่างธุรกิจ: นิติบุคคลของโครงการบ้านและคอนโด, ผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยต่าง ๆ เป็นต้น
6. ธุรกิจสถาบันการศึกษา การประยุกต์ใช้ Line OA กับกลุ่มธุรกิจประเภทนี้จะคล้ายกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กล่าวคือ ใช้เป็นเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารระหว่างสถาบันนั้น ๆ กับนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ใช้บริการคอร์สเรียนและอบรมต่าง ๆ โดยทางสถาบันมักใช้ส่งประกาศข้อความสำคัญไปยังกลุ่มคนจำนวนมากในคราวเดียว ข้อดีคือ สามารถตั้งค่ากรองลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการส่งข้อความเฉพาะไปได้ ครอบคลุมทั้งช่วงอายุ เพศ สถานที่ และอื่น ๆ
ตัวอย่างธุรกิจ: โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, ชุมนุมต่าง ๆ เป็นต้น
7. ธุรกิจบริการ ผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ที่ต้องการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาใช้บริการของแบรนด์นั้นถือว่าได้ประโยชน์จากการใช้งาน Line OA ครบทุกด้าน ผ่านการใช้งานฟีเจอร์หลากหลายของแพลตฟอร์ม ตั้งแต่สร้างการรับรู้แบรนด์ผ่าน Greeting Message ช่วยให้ข้อมูลบริการต่าง ๆ สำหรับประกอบการตัดสินใจ โดยส่งคอนเทนต์ให้ความรู้กึ่งการตลาดให้ผ่านรูปแบบ Rich Message หรือ Rich Video ได้ หรือแม้แต่สอบถามความช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งในรูปแบบ Auto Reply หรือคุยโดยตรง
ตัวอย่างธุรกิจ: ศูนย์ให้บริการซ่อมแซมต่าง ๆ, ผู้ให้คำปรึกษาด้านต่าง ๆ, บริการช่างและทำความสะอาด
ราคาเเพ็คเกจ Line Official Account
หากว่ากันถึงแพ็กเกจของ Line OA แล้วนั้น ก็มีให้เลือกใช้งานรายเดือนหลากหลายแบบ ราคาแตกต่างกันไปตามจำนวนข้อความที่ส่งให้แก่กลุ่มเป้าหมายและลูกค้า ดังนี้
1 Package Free ใช้งานได้ฟรี โดยส่งข้อความถึงกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าได้เดือนละ 1,000 ข้อความ
2 Package Basic คิดค่าบริการเดือนละ 1,280 บาท ส่งข้อความถึงกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าได้เดือนละ 15,000 ข้อความ คิดเป็นข้อความละ 0.10 บาท
3 Package Pro คิดค่าบริการเดือนละ 1,500 บาท ส่งข้อความถึงกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าได้เดือนละ 35,000 ข้อความ คิดเป็นข้อความละ 0.04 บาท
บริษัทคุณได้สร้าง Line OA แล้วรึยัง
เพราะการสื่อสารที่ช่วยตอบคำถามกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าตั้งแต่เริ่มรู้จักแบรนด์ หาทางเลือกที่ตอบโจทย์ Pain Point จนนำมาสู่การได้โซลูชันอย่างสินค้าหรือบริการของแบรนด์ที่ตรงตามความต้องการนั้น ต้องใช้ความเข้าถึงง่าย ทำงานไว และได้ผลเร็ว Line OA จึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของช่องทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์แบรนด์ที่เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ตลอดจนประยุกต์ใช้จริง เพื่อเข้าถึงและเข้าใจกลุ่มลูกค้าของตนเอง ควบคู่ไปกับการนำผลตอบรับนั้นกลับมาพัฒนาสินค้าและบริการของแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น