การสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นความสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำการตลาด การใช้กลยุทธ์ทำการตลาดจึงสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการใช้ Guerilla Marketing มาเป็นกลยุทธ์ทำการตลาด เพื่อสร้างแคมเปญต่าง ๆ ให้กับแบรนด์ การใช้เทคนิคนี้เป็นการสร้างการรับรู้ สร้างความสนใจ และตราตรึงใจให้กับกลุ่มเป้าหมายและผู้คนโดยทั่วไปเป็นอย่างดี
การหยิบกลยุทธ์นี้มาใช้เป็นที่นิยมในหลาย ๆ แบรนด์ และเชื่อว่านักการตลาดหลาย ๆ คน หรือผู้คนทั่วไปย่อมเคยเห็นผ่านหูผ่านตามาอย่างแน่นอน ซึ่งการใช้เทคนิคนี้เป็นที่นิยมสำหรับแบรนด์ใหญ่ ๆ เพราะสามารถสร้างอิมแพคได้มาก รวมถึงแบรนด์เล็ก ๆ ที่มีงบประมาณไม่มาก ก็ทำให้เกิดกระแสได้ง่าย ๆ ด้วยซึ่งการทำการตลาดแบบนี้จะเป็นอย่างไร และมีรายละเอียดอย่างไร มาดูไปพร้อม ๆ กัน
การตลาดแบบกองโจร Guerilla Marketing คือ?
การตลาดแบบ Guerilla Marketing หรือเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นการตลาดแบบกองโจรที่ซุ่มจู่โจมด้วยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเซอร์ไพร์ส สร้างการรับรู้ และสร้างกระแสให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ด้วยการใช้งบประมาณที่น้อย แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าหากทำแล้วประสบความสำเร็จ แบรนด์จะถูกกล่าวถึงและเป็นที่พูดถึงในสังคมเป็นวงกว้างทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์นั่นเอง ซึ่งการทำการตลาดแบบนี้เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เพราะแบรนด์ได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้าง ด้วยการใช้สื่อโฆษณาที่ต่ำ แถมยังสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ติดตัวไปด้วย แน่นอนว่าการทำบางสิ่งบางอย่างที่เรียบง่าย แต่ได้ผลลัพธ์ที่สูงย่อมเป็นเรื่องที่ยาก แต่วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักองค์ประกอบต่าง ๆ ในการทำการตลาดแบบนี้ พร้อมกับขั้นตอนวิธีการ เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย เพื่อให้ลองไปประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของคุณ
6 องค์ประกอบของการทำ Guerilla Marketing ให้ประสบความสำเร็จ
การทำการตลาดแบบ Guerilla Marketing หรือเรียกว่า ‘การตลาดแบบกองโจร’ นับว่าเป็นเทคนิคการทำการตลาดที่คลาสสิคและนิยมใช้มาอย่างยาวนาน เรียกว่าเป็น ‘Buzz Marketing’ ที่ทำให้แคมเปญการตลาดของแบรนด์ถูกพูดถึงในวงกว้าง เป็นไวรัล และสร้างกระแสให้กับคนในสังคมได้อย่างดี ซึ่งองค์ประกอบในการทำการตลาดแบบนี้ให้ประสบความสำเร็จมีองค์ประกอบที่น่าสนใจ 6 อย่าง ดังนี้
(1) Creativity (ใช้ความคิดสร้างสรรค์) เรียกว่าเป็นข้อที่สำคัญข้อแรกของการทำการตลาดแบบนี้เลยก็ว่าได้ เพราะการใช้ความคิดสร้างสรรค์จะสร้างความแตกต่างให้กับผู้คนในสังคมได้ และทำให้แบรนด์ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ไปยังแคมเปญการตลาดได้อย่างดีนั้น จะสร้างความแตกต่างและเป็นที่น่าจดจำให้กับผู้คนได้ในที่สุด อีกทั้งจะเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจนั้น ๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดี
(2) Sudden Attack (จู่โจมแบบฉับพลัน) การสร้างความรวดเร็ว ฉับไวเพื่อช่วงชิงกระแสเป็นสิ่งสำคัญของการทำการตลาดแบบนี้ เพราะกระแสจะช่วยผลักดันแคมเปญการตลาดที่วางไว้ไปได้ไกลมากขึ้น และสร้างความจดจำและเป็นที่น่าสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายและผู้คนทั่วไปได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ช่วงเทศกาล ประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของการเมือง สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความสนใจและเป็นสิ่งที่คนในสังคมสัมผัสและใกล้ชิด เมื่อใช้การประชาสัมพันธ์แคมเปญอย่างฉับพลันหรือทำให้เกิดสิ่งที่แตกต่าง ก็จะช่วยให้แคมเปญการตลาดส่งไปยังสังคมได้รวดเร็วมากขึ้น
(3) Innovation (สร้างนวัตกรรม) การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้เกิดสิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่ง รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายและสังคมได้สัมผัสถึงนวัตกรรมที่แตกต่างที่มาช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคมไปในทางที่ดีขึ้น การทำการตลาดด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ จะทำให้สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้น่าสนใจมากขึ้นนั่นเอง
(4) Shocking (ทำให้ตะลึง) การสร้างความตกตะลึง หรือสร้างความรู้สึกแปลกใหม่เป็นหัวใจสำคัญในการทำให้แคมเปญการตลาดถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง เกิดกระแส เกิดการบอกต่อ สร้างเป็นไวรัลให้กับแคมเปญนั้น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากความคิดสร้างสรรค์เป็นไอเดียหลักในการทำกลยุทธ์ของแคมเปญนี้ให้แตกต่างและให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า ‘คิดได้ยังไง’ ในแคมเปญมากที่สุด
(5) All ages (เข้าถึงทุกเพศทุกวัย) การสื่อสารไปยังทุกเพศ ทุกวัย เป็นการสื่อสารที่ให้เข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และสื่อสารออกไปเป็นข้อความเดียวที่เข้าใจได้ทันที เพื่อให้แคมเปญที่วางไว้ได้ทำงานและสื่อสารออกไปให้ชัดเจนที่สุด เมื่อสื่อสารสิ่งง่าย ๆ ให้กับทุกเพศทุกวัยได้เข้าใจ ก็ไม่แปลกที่แคมเปญจะสร้างกระแสและเป็นที่พูดถึงได้เป็นวงกว้างนั่นเอง
(6) Cost less (ใช้เงินน้อยลง) หากใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ไอเดียไปกับแคมเปญมากขึ้น แน่นอนว่าก็สามารถใช้งบประมาณที่น้อยลงได้ เพราะพื้นที่สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายล้วนเปิดกว้างและมีทางเลือกมากมาย หากใช้ธรรมชาติของการใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ พร้อมกับไอเดียก็จะช่วยให้ลดต้นทุนในการสื่อสารแคมเปญการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการด้วยประสิทธิภาพสูงแต่ใช้ต้นทุนต่ำนั่นเอง
ขั้นตอนการสร้าง Guerilla Marketing แบบจู่โจมตลาด
สร้าง Guerilla Marketing ให้มีประสิทธิภาพสามารถทำได้ดังนี้
1. รู้จักกลุ่มเป้าหมาย: รู้จักกลุ่มเป้าหมายที่จะพูดคุยสื่อสาร รวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงวิถีชีวิต เพื่อเลือกพื้นที่สื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายด้วยข้อความที่เหมาะสม โปรโมชันที่ถูกที่ถูกเวลา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ถูกนั่นเอง
2. มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นผู้ริเริ่ม: สร้างแคมเปญที่สร้างสรรค์และเป็นต้นคิดในไอเดียต่าง ๆ จะช่วยสร้างการสื่อสารและโฆษณาแคมเปญที่มีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของแบรนด์นั้น ๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นแบรนด์แรกจะช่วยสร้างความรับรู้และเป็นที่จดจำได้อย่างดี
3. ทดสอบไอเดียก่อนใช้จริง: ทุกแคมเปญการตลาดจำเป็นต้องทดสอบและทดลองกับกลุ่มเป้าหมายก่อนนำไปใช้จริงเสมอ เพื่อประเมินผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในทางตรงข้ามโดยไม่ได้คาดคิด ผ่านการสอบถามความรู้สึก ความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงให้แคมเปญมีประสิทธิภาพดีขึ้น
4. โฆษณา Guerilla Marketing บนโลกออนไลน์: โฆษณาให้แคมเปญกระจายออกไปเป็นวงกว้าง เพื่อประชาสัมพันธ์แคมเปญให้มากที่สุดในทุก ๆ ช่องทาง
5. อย่าโฟกัสที่จะเป็นไวรัล: การทำแคมเปญเป็นไวรัลเป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็นต้องคิดเสมอว่าแคมเปญนี้จะมอบคุณค่าแบบใดให้กับกลุ่มเป้าหมาย เมื่อคุณค่าจากแบรนด์ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายแล้ว ก็จะช่วยให้แคมเปญนั้นเกิดกระแสเข้าไปเพิ่มอีกด้วย
6. วิเคราะห์และเรียนรู้จากผลลัพธ์: วิเคราะห์ผลลัพธ์ สอบถามความคิดเห็น เพื่อประเมินผลและปรับปรุงแคมเปญ เพื่อหาข้อผิดพลาดและกระบวนการพัฒนาเพื่อให้แคมเปญมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อดี vs ข้อเสียของการทำ Guerilla Marketing
ข้อดีของการทำ
Guerilla Marketing
- ดึงดูดความสนใจให้กับแคมเปญมากขึ้น
- กระตุ้นยอดขายได้
- ใช้งบประมาณน้อย
- สร้างภาพจำให้กับแบรนด์ได้มีประสิทธิภาพ
- สร้างความแปลกใหม่ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
ข้อเสียของการทำ
Guerilla Marketing
- ระยะเวลาของกระแสไม่ยาวนาน
- อาจเปลี่ยนภาพจำของแบรนด์ให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยไม่คาดคิด
- หากทำบ่อย ๆ ลูกค้าอาจจะมองว่าเพื่อการตลาดเท่านั้นและไม่รู้สึกตื่นเต้นอีกต่อไป
ตัวอย่าง Guerilla Marketing ที่เป็นกระแสไวรัล
ตัวอย่างของการทำแคมเปญ ’Guerilla Marketing ’ ที่เป็นเคสตัวอย่างมีดังนี้
1. BBC’s Dracula Billboard | adweek.com
เป็นแคมเปญโฆษณามินิซีรีส์เรื่องใหม่ของ BBC ที่ใช้แสงและเงาเพื่อสื่อสารถึงความน่ากลัวของ ‘Dracula’ ที่จะมีความน่ากลัวเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน จึงเกิดการโฆษณาผ่านป้ายบิลบอร์ด เพื่อให้ผู้คนพบเห็นได้ง่าย และเล่นกับไอเดียที่แปลกตา และแปลกใหม่ให้กับผู้ที่พบเห็น
- ประเด็นที่ต้องการสื่อสาร: เมื่อความมืดเข้าปกคลุมความน่ากลัวและความสยดสยองก็เริ่มต้น เหมือนกับ ‘Dracula’ ที่จะปรากฎตัวออกมาในยามค่ำคืน
2. McDonald’s Follow the Arches | Mediamarketing.com
เป็นแคมเปญของ McDonald’s ที่ออกแคมเปญเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอาหารของตัวเองว่าอยู่ตรงไหนของถนน โดยดีไซน์ด้วยการใช้โลโก้ของแบรนด์สื่อสารทำหน้าที่เป็นป้ายบอกทางนั่นเอง
- ประเด็นที่ต้องการสื่อสาร: เพื่อสื่อสารว่า McDonald’s อยู่ทั่วทุกที่บนมุมถนน เพียงแค่ตามป้ายบอกทางจาก McDonald’s นั่นเอง
3. เมืองไทยประกันชีวิต | Adaddictth.com
เป็นแคมเปญโฆษณาประกันชีวิตที่ถูกพูดถึงและจดจำได้ด้วยวิธีการโฆษณาที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ด้วยการพูดกิจกรรมที่มากมายและมีเยอะด้วยการแร็ป ทำให้ดึงดูดความสนใจและแตกต่างจากการโฆษณาประกันชีวิตแบบเดิม ๆ อีกด้วย
- ประเด็นที่ต้องการสื่อสาร: เพื่อสื่อสารถึงการใช้ประกันชีวิตของแบรนด์นี้แล้วมีกิจกรรมให้ทำ มีสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้ได้ใช้มากมายนั่นเอง
หาไอเดียใหม่ พร้อมสร้างปรากฏการณ์ด้วย Guerilla Marketing
จะเห็นได้ว่าสิ่งสำคัญของแคมเปญนี้คือ ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ที่นำมาใช้กับการทำการตลาดแบบนี้ การรวบรวมข้อมูลที่เป็นกระแส การหา Insight ที่หลากหลายบนโลกออนไลน์ หรือทางโซเชียลมีเดียจึงเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปต่อยอดไอเดีย ใส่ความคิดสร้างสรรค์ไปยังแคมเปญการตลาด เพื่อสร้างแคมเปญการตลาดแบบกองโจรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทำให้จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่หาเทรนด์ หาไอเดีย หาความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างตรงจุด และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เครื่องมือ Social Listening จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะช่วยทุ่นแรงในการหาข้อมูล รวบรวมเทรนด์ และนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเครื่องมือที่อยากแนะนำ คือ Mandala Cosmos ที่รวบรวมกระแสบนโลกออนไลน์จากหลากหลายช่องทางรวมถึงโซเชียลมีเดียยอดนิยมมารวมไว้ในที่เดียว สามารถช่วยในการอัปเดตข้อมูลทำคอนเทนต์ ไปจนถึงสำรวจความต้องการตลาดในไทยและต่างประเทศได้อีกด้วย